Abstract:
ปัญหาดินเค็มเป็นปัญหาสำคัญในการทำการเกษตรในประเทศไทยประการหนึ่งความเค็มของดินจะส่งผลให้พืชชะงักการเจริญเติบโตและส่งผลให้ผลผลิตของพืชตกต่ำกลยุทธ์หนึ่งที่จะช่วยพืชให้สามารถทนทานต่อสภาวะความเค็มของดินได้ คือ การใช้แบคทีเรียที่มีคุณสมบัติส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช (PGPB) ดังนั้นการศึกษาครั้งนี้จึงได้นำแอคติโนมัยสีทที่คัดแยกจากมูลไส้เดือนและผักบุ้งทะเล จำนวน 38 ไอโซเลต และ P. putida ATCC 17484 มาคัดกรองและเลือกสายพันธุ์ที่สามารถสร้างฮอร์โมนพืช IAA และ/หรือเอนไซม์ ACCD ในอาหารเหลวเลี้ยงเชื้อที่มีสารละลายเกลือโซเดียมคลอไรด์ 200-1,000 มิลลิโมลาร์ได้และนำสายพันธุ์ที่คัดเลือกได้ไปศึกษาความสามารถในการส่งเสริมการเจริญเติบเติบโตของข้าว (Oryza sativa L. cv. KDML105) และจัดจำแนกแอคติโนมัยสีทสายพันธุ์ที่คัดเลือกด้วยยีน 16S rRNA ผลการคัดกรองจากคุณสมบัติสร้างฮอร์โมนพืช IAA และ/หรือเอนไซม์ ACCD ในอาหารเหลวเลี้ยงเชื้อที่มีสารละลายเกลือโซเดียมคลอไรด์ 200-1,000 มิลลิโมลาร์ได้พบว่า แอคติโนมัยสีท จำนวน 3 ไอโซเลต คือ BBUU144, BBUU161 และ BBUU500 และ P. putida ATCC 17484 ถูกคัดเลือกสำหรับผลการส่งเสริมการเจริญเติบโตพบว่า BBUU500 ที่คัดแยกจากผักบุ้งทะเลสามารถส่งเสริมการเจริญเติบโตของข้าวขาวดอกมะลิ 105 ได้ดีที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับ BBUU144, BBUU161 และ P. putida ATCC 17484 ผลการจัดจำแนกแอคติโนมัยสีทที่ถูกคัดเลือกทั้ง 3 ไอโซเลตพบว่า เป็นสมาชิกของสกุล Streptomyces การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า Streptomyces ทั้ง 3 สายพันธุ์และ P. putida ATCC 17484 เป็นแบคทีเรียที่มีคุณสมบัติเป็น PGPB และสามารถส่งเสริมการเจริญเติบโตของข้าวที่เจริญในสภาวะดินเค็มได้