Abstract:
งานวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาย้อนรอยเครื่องปั้นดินเผาในเส้นทางวัฒนธรรมลุ่มน้ำ จังหวัดพิษณุโลก: สู่การออกแบบเครื่องปั้นดินเผาชุมชน มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาข้อมูล เครื่องปั้นดินเผาในเส้นทางวัฒนธรรมลุ่มน้ำ จังหวัดพิษณุโลก 2) ทดลองและวิเคราะห์วัตถุดิบ ในการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา 3) วิเคราะห์และพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา ชุมชน และ 4) พัฒนาศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องปั้นดินเผาที่ปรากฏในเส้นทางวัฒนธรรมลุ่มน้ำ จังหวัดพิษณุโลก ผลการศึกษาในตอนที่ 1 พบว่า “น้ำ” เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่สามารถทำให้มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพ เราจะเห็นได้ว่า เครื่องปั้นดินเผาผูกพันกับวิถีชีวิตของมนุษย์มาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ มีหลักฐานปรากฏทางโบราณคดีมากมายที่พบในจังหวัดพิษณุโลก และที่บ้านนาไก่เขี่ย ตำบลนาบัว อำเภอนครไทย พบเตาเผาโบราณ และผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาที่ยังหลงเหลือและคงความสมบูรณ์อยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion: GMS) เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor: EWEC) หรือเส้นทางหมายเลข 9 (R9) ได้ตัดผ่านจังหวัดพิษณุโลกด้วย ซึ่งผลการศึกษาในตอนที่ 2 จึงได้ทำการทดลอง และวิเคราะห์วัตถุดิบในท้องถิ่นที่เหมาะสมต่อการขึ้นรูป ผลการวิเคราะห์และพัฒนารูปแบบในตอนที่ 3 ได้มีการออกแบบผลิตภัณฑ์ง่ายต่อการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา และรักษารูปแบบของผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาแบบดั้งเดิมที่สะท้อนถึงวิถีการดำรงชีวิตของคนในชุมชน ผลการดำเนินการในตอนที่ 4 มีการนำองค์ความรู้ที่ได้ถ่ายทอดสู่ชุมชนและบรรจุรายวิชาเครื่องปั้นดินเผา ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ให้กับนักเรียนในโรงเรียนบ้านนาไก่เขี่ย เพื่อปลูกเจตคติที่ดีต่อวิถีชีวิตดั้งเดิม ในอดีต สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของเตาเผาและผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาโบราณที่ปรากฏในชุมชนบ้านนาไก่เขี่ย ตำบลนาบัว อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก