Abstract:
ผลการศึกษาวิจัยเรื่อง วรรณกรรมท้องถิ่นลุ่มน้ำปากพนัง: ความเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ชุมชนในช่วงปี พ.ศ. 2560 เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ ได้แก่ 1. เพื่อวิเคราะห์ลักษณะการใช้ภาษาในวรรณกรรมเพลงบอก เพื่อสื่อสารภาพลักษณ์ของชุมชนลุ่มน้ำปากพนัง 2. ศึกษาภาพลักษณ์ของชุมชนลุ่มน้ำปากพนังผ่านวรรณกรรมท้องถิ่น ประเภทวรรณกรรมเพลงบอก ในช่วงปี พ.ศ. 2500-พ.ศ. 2560 3. ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ชุมชนด้านสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ผ่านวรรณกรรมเพลงบอกลุ่มน้ำปากพนัง ผลการศึกษาพบว่า 1. ลักษณะการใช้ภาษาในวรรณกรรมเพลงบอก เพื่อสื่อสารภาพลักษณ์ของชุมชนลุ่มน้ำปากพนัง มี 12 แบบ มีการใช้คำภาษาถิ่น การใช้คำและกลุ่มคำเรียกแทนบุคคล การใช้คำและกลุ่มคำแสดงการแบ่งกลุ่ม การใช้คำยกย่องเทิดทูน การใช้คำเชิงเสียสีประชดประชัน การใช้คำสื่ออารมณ์มุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว การใช้คำสื่ออารมณ์สนุกสนาน การใช้คำเรียกสถานที่ การใช้คำซ้อน การใช้คำซ้ำ การใช้คำที่มีความหมายตรงกันข้ามและการใช้ปฏิปุจฉา ส่วนการใช้โวหารภาพพจน์ มี 4 แบบ ได้แก่ โวหารอุปมา โวหารอุปลักษณ์ การใช้สัญลักษณ์ และการใช้อติพจน์ 2. ภาพลักษณ์ของชุมชนลุ่มน้ำปากพนังผ่านวรรณกรรมท้องถิ่น ประเภทวรรณกรรมเพลงบอก ในด้านสังคม การเมือง ในช่วงปี พ.ศ. 2500-พ.ศ. 2530 เป็นภาพลักษณ์ของชุมชนบทแบบดั้งเดิมเป็นสังคมแบบพึ่งตนเองเป็นหลัก เป็นสังคมเกษตรกรรม มีความสัมพันธ์กับรัฐน้อย ในด้านเศรษฐกิจ เป็นเศรษฐกิจแบบยังชีพ ประชาชนส่วนใหญ่มีความยากจน ผลประโยชน์ตกอยู่ในมือนายทุน ในด้านวัฒนธรรม มีความภูมิใจในประเพณี มีความเคร่งครัดในศาสนา ภาพลักษณ์ของชุมชนลุ่มน้ำปากพนังในช่วงปี พ.ศ. 2531-พ.ศ. 2560 ภาพลักษณ์ในด้านสังคม การเมือง พบว่า มีความเป็นเมืองที่มีความทันสมัย การคมนาคมที่สะดวก ความสัมพันธ์ของคนที่เป็นปัจเจกมากขึ้น ประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนค่อนข้างดี ระบบนิเวศน์เสียสมดุล ประชาชนมีความตื่นตัวต่อการเมือง ในด้านเศรษฐกิจพบว่า ประชากรมีการประกอบอาชีพที่หลากหลาย มีความเข้มแข็งของเศรษฐกิจชุมชน เศรษฐกิจมีความเจริญรุ่งเรืองมากขึ้น เกิดการขยายตัวของวัฒนธรรมท้องถิ่น มีสินค้าที่เป็นทุนทางวัฒนธรรม 3. ปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ชุมชนมีปัจจัยภายนอก ปัจจัยภายใน ความคาดหวังต่อผู้นำประเทศ การคมนาคม ปัญหาความขัดแย้ง