Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและศึกษาการยอมรับแนวทางการสื่อสารเพื่อแก้ไขปัญหา
ทุพโภชนาการในเด็กยากจนที่อาศัยอยู่ในถิ่นทุรกันดาร กรณีศึกษาหมู่บ้านนายม จังหวัดชัยภูมิ โดยทำการสัมภาษณ์เชิงลึก การสังเกตอย่างมีส่วนร่วม และการสนทนากลุ่มกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อันได้แก่ ตัวแทนจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ผู้นำหมู่บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบล โรงเรียนประจำหมู่บ้านและผู้ปกครอง ผลการวิจัยพบว่า แนวทางการสื่อสารเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวประกอบไปด้วย 1. การวิเคราะห์ปัจจัยภายในภายนอกที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน 2. การกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ครอบคลุมทั้งผู้ปกครองและเด็ก 3. การกำหนดวัตถุประสงค์การสื่อสารโดยมุ่งเน้นการสร้างการรับรู้ในผลกระทบจากปัญหาและกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมในรูปแบบสร้างนำซ่อม 4. การกำหนดสารหลักที่เข้าใจง่าย นำไปปฏิบัติได้จริง และใช้ภาษาถิ่นเป็นหลัก 5.การผสมผสานสื่อของชุมชนอันได้แก่ สื่อบุคคล สื่อหอกระจายเสียง และสื่อกิจกรรม โดยเน้นการสื่อสารสองทางและการมีส่วนร่วม 6. การประเมินผลโดยการบูรณาการเข้ากับกิจกรรมและการประเมินอย่างต่อเนื่องผ่านการสังเกตการณ์ 7. การต่อยอดโดยการสื่อสารอย่างสม่ำเสมอและขยายเครือข่ายความร่วมมือไปยังกลุ่มต่าง ๆ ในชุมชน