Abstract:
การศึกษาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์คือ 1) เพื่อทราบถึงข้อมูลแนวทางการให้บริการวิชาการด้านต่าง ๆ ของภาควิชาวิทยาศาสตร์การอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ในส่วนของผู้ขอรับบริการและ ผู้ให้บริการ 2) เพื่อศึกษาความต้องการของผู้ขอรับบริการวิชาการด้านต่าง ๆ ของภาควิชาฯ 3) เพื่อพัฒนาแนวทางหรือเสริมสร้างความพร้อมในการให้บริการวิชาการของภาควิชาฯ ที่ตรงตามความต้องการ ของผู้ขอรับบริการ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ ผู้ขอรับบริการและผู้ให้บริการ จำนวน 10 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสัมภาษณ์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าร้อยละ (Percentage) ซึ่งสรุปผลการวิจัยได้ดังนี้
1) สามารถกำหนดแนวทางการให้บริการวิชาการในส่วนของการให้บริการวิเคราะห์ และบริการเครื่องมือ คือ ควรจัดสรรงบประมาณในการจัดซื้อเครื่องมือที่รองรับการให้บริการที่มีความหลากหลาย และมีบุคลากรหรือหน่วยงานที่ให้บริการวิเคราะห์โดยตรงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ และในส่วนของการให้บริการคำปรึกษาทางวิชาการ คือ ควรมีการประสานงานได้อย่างต่อเนื่อง ไปยังหน่วยงานอื่นในกรณีที่ผู้ขอรับบริการต้องการความรู้ด้านอื่นเพิ่มเติม
2) การศึกษาความต้องการของผู้ขอรับบริการวิชาการด้านต่างๆ จากผลการให้บริการที่ผ่านมา ในปี พ.ศ. 2557 - 2563 พบว่า ประเภทหน่วยงานของผู้ขอรับบริการที่มีการขอรับบริการเป็นจำนวนมากที่สุด คือ ผู้ประกอบการ/วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME)/บุคคลทั่วไป (35.71%) รองลงมาได้แก่ โรงงาน/หน่วยงานเอกชน (32.14%) และหน่วยงานราชการ/รัฐวิสาหกิจ/มหาวิทยาลัย (32.14%) โดยประเภทรายการที่มีการขอรับบริการเป็นจำนวนมากที่สุด คือ บริการวิเคราะห์ (46.15%) รองลงมา ได้แก่ บริการให้คำปรึกษาทางวิชาการ (24.85%) บริการเครื่องมือ (21.30%) และบริการขอใช้ห้องปฏิบัติการและเตรียมตัวอย่าง (7.69%) ตามลำดับ
3) การพัฒนาแนวทางหรือเสริมสร้างความพร้อมในการให้บริการวิชาการ จากผลวิจัยพบว่า ภาควิชาฯ ควรพัฒนาหรือปรับปรุงการบริหารจัดการ ได้แก่ การจัดสรรงบประมาณจัดซื้อเครื่องมือใหม่ เพื่อทดแทนเครื่องเดิมหรือเครื่องมือใหม่ที่มีความครอบคลุมรายการวิเคราะห์ที่ตอบสนองต่อเทคโนโลยี การผลิตอาหารในปัจจุบัน การตรวจสอบประสิทธิภาพของเครื่องมืออยู่เป็นประจำ มีบุคลากรที่ให้บริการ ตรวจวิเคราะห์โดยตรง มีการจัดตั้งหน่วยงานที่ให้บริการวิชาการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One stop service) หรือมีการบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในมหาวิทยาลัยเพื่อเชื่อมโยงข้อมูล และประสานงานในการให้บริการ อาจารย์ผู้ให้บริการมีการเสริมสร้างความรู้ในด้านอื่นเพิ่มเติม และมีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลการให้บริการที่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย
ปัจจุบันภาควิชาฯ ได้มีการให้บริการวิชาการตามศักยภาพในส่วนของเครื่องมือและบุคลากรที่มีอยู่ และได้มุ่งพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพและคุณภาพการให้บริการให้มีความเหมาะสมตรงกับความต้องการ ของผู้ขอรับบริการอยู่เสมอ อย่างไรก็ตามยังคงมีความพร้อมในการให้บริการวิชาการแก่ผู้ขอรับบริการ ทั้งในแง่ของสถานที่ตั้งอยู่ในเขตภาคตะวันออกที่รองรับผู้ขอรับบริการที่ต้องการพัฒนาธุรกิจการแปรรูปอาหารและมุ่งพัฒนาการบริหารจัดการโครงการบริการวิชาการนี้ให้ตอบรับกับนโยบายของมหาวิทยาลัยบูรพา ที่มุ่งเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารที่อยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกต่อไป