Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาภูมิปัญญาศิลปะบาติกของประเทศในกลุ่มอาเซียน จัดกลุ่มตามหลักภูมิศาสตร์ 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแผ่นดินใหญ่หรืออินโดจีน และกลุ่มภาคพื้นสมุทรจากศิลปะบาติก จำนวน 120 ผลงาน (2) วิเคราะห์สังเคราะห์ศิลปะบาติกในด้านเนื้อหาเรื่องราว รูปแบบการถ่ายทอดลวดลาย วัสดุอุปกรณ์ เทคนิคกระบวนการ สี และความหมายของลวดลาย (3) สร้างสรรค์ศิลปะบาติก ชุด บากติกอาเซียน ซึ่งจากการวิจัยพบว่า ศิลปะบาติกเป็นวัฒนธรรมร่วมของชาวอาเซียนได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมจากองค์การยูเนสโก้ (UNESCO) มีวิธีทำคือใช้ขี้ผึ้งวาดลวดลายนำไปย้อมหรือระบายสี ลวดลายที่พบมากของกลุ่มอินโดจีน คือ ธรรมชาติและเรขาคณิต กลุ่มภาคพื้นสมุทร คือ ธรรมชาติและวิถีชีวิต โดยมีการถ่ายทอด 3 รูปแบบ คือ แบบเหมือนจริง อุดมคติ และนามธรรม ทั้งแบบดั้งเดิมและแบบศิลปะสมัยใหม่ วัสดุอุปกรณ์ มีผ้าฝ้าย ขี้ผึ้ง ปากกา (Tjanting) เป็นหลัก รองลงมา มีบล็อกพิมพ์ เทคนิคที่ใช้ คือ ย้อมและระบายสี ใช้สีเดียวและหลายสี แบบกลมกลืนมากกว่าสีที่ตัดกันรุ่นแรง และลวดลายดั้งเดิมจะสื่อความหมายมากกว่าลวดลายที่สร้างใหม่ ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มใช้เทคนิคและลวดลายคล้ายคลึงกัน เนื่องจากเชื้อชาติ ศาสนาและการเผยแพร่ศิลปะบาติกสู่ประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน โดยได้สังเคราะห์บาติกอาเซียนออกเป็น 5 กลุ่ม คือ ธรรมชาติ วรรณคดีรามายณะ วิถีชีวิต ศาสนา และการสื่อสารในยุคปัจจุบัน นำมาสร้างสรรค์ โดยใช้ผ้าปักลายลูกไม้และลายที่เกิดจากการสังเคราะห์ ผ้าฝ้ายพื้นสี ผ้าปาเตะพิมพ์ลาย และผ้าไหมจีน เทคนิคการผสมผสานโดยย้อมสีธรรมชาติย้อมทับด้วยสีสังเคราะห์ ระบายสี วาดด้วยปากกาเขียนผ้า สีทอง พ่นสี และปักด้วยไหมปัก ผลที่ได้คือลักษณะของผลงานมีความแปลกใหม่ เนื่องจากลวดลายมีลักษณะ 3 มิติ จากการปัก และการวาดด้วยปากกาซ้อนอยู่ด้านในลวดลาย และปรากฏกลุ่มสีพาสเตลที่เกิดจากการย้อมสีธรรมชาติ และสีสังเคราะห์ มีลักษณะอ่อนหวาน สีไม่ฉูดฉาด ดูสบายตา นับเป็นงานสร้างสรรค์ศิลปะบาติกอีกรูปแบบหนึ่ง และสามารถนำไปใช้งานในลักษณะต่าง ๆ ได้ต่อไป