Abstract:
การวิจัยเชิงปฏิบัติการสร้างสรรค์มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาพัฒนาการงานศิลปะเครื่องปั้นดินเผาร่วมสมัยในประเทศไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2486 ถึง พ.ศ. 2555 โดยศึกษาและวิเคราะห์ใน 4 มาตรฐาน คือ เนื้อหาแรงบันดาลใจ กระบวนแบบการสร้างสรรค์ ทัศนธาตุ และเทคนิคเฉพาะทางเครื่องปั้นดินเผา รวบรวมข้อมูลจากศิลปิน จำนวน 15 คน และผลงานศิลปะเครื่องปั้นดินเผา จำนวน 101 ชิ้น ผลการวิจัยพบว่าพัฒนาการศิลปะเครื่องปั้นดินเผา เริ่มจากงานหัตถกรรมที่มีประโยชน์ใช้สอย พัฒนาคู่กับศิลปะสมัยใหม่ในปี พ.ศ. 2486 จากสถาบันการศึกษาทางศิลปะ ผลงานส่วนใหญ่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความงาม ความประทับใจ แสดงออกทางรูปทรง เนื้อดิน น้ำเคลือบ และการตกแต่ง ผู้วิจัยนำผลการวิเคราะห์มาเป็นแนวคิดแบ่งกระบวนแบบงานศิลปะเครื่องปั้นดินเผาร่วมสมัยเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกกระบวนแบบประโยชน์ใช้สอย มีรูปทรงมาจากภาชนะ แสดงลักษณะพิเศษของเนื้อดิน น้ำเคลือบ และเนื้อหาเกี่ยวกับธรรมชาติสภาพแวดล้อม กลุ่มที่สองกระบวนแบบจินตนาการ มีทั้งรูปทรงจินตนาการเหนือจริง และอุดมคติ การขึ้นรูปหลากหลาย และเนื้อหาเกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนในสังคม และกลุ่มที่สามกระบวนแบบสัญลักษณ์ มีรูปทรงเรขาคณิตเชิงสัญลักษณ์ และนามธรรม เนื้อหาเกี่ยวกับความเชื่อส่วนตัวที่ศิลปินสนใจเป็นพิเศษ นำแนวคิดที่ได้จากการวิจัยมาวิเคราะห์ผลงานที่ผ่านมาของผู้วิจัย และพัฒนาเป็นผลงานใหม่ จำนวน 3 ชุด คือ ชุดแรกความประทับใจความงามรูปทรงเมล็ดข้าว มาลดทอนรายละเอียดให้สอดคล้องกับรูปทรงภาชนะชุดที่สองความประทับใจในธรรมชาติที่สัมพันธ์กับเครื่องมือพื้นบ้านมาผสมผสานระหว่างรูปทรงธรรมชาติและเรขาคณิต ชุดที่สามความประทับใจกลไกการเคลื่อนไหวของเครื่องมือพื้นบ้านเป็นการจัดวางงานร่วมกับวัสดุอื่นเพื่อให้เกิดความรู้สึกการเคลื่อนไหว ผลงานทั้งหมดขึ้นรูปด้วยเนื้อดินชนิดเอิร์ทเทนแวร์ สร้างพื้นผิวธรรมชาติ ตกแต่งด้วยการทำออกไซด์ และเผาที่อุณหภูมิ 1,060 องศาเซลเซียส แบบลดออกซิเจน