Abstract:
การวิจัยครั้งนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและรวบรวมองค์ความรู้ทางภูมิปัญญาเครื่องทองโบราณของช่างทองพานทอง จังหวัดชลบุรี ครอบคลุมด้านความเป็นมา สภาพภูมิสังคมวัฒนธรรมและบริบทของช่างทองโบราณเมืองพานทองภูมิปัญญาด้านกระบวนการ ทําเครื่องทองแบบดั้งเดิมการถ่ายทอดความรู้เชิงช่างและการสืบทอดงานทําทองตลอดจนแนว ทางการอนุรักษ์และส่งเสริมงานทองโบราณพานทอง ผลการศึกษาพบว่า ช่างทองโบราณเมืองพานทองเป็นกลุ่มช่างฝีมือผู้มีทักษะและภูมิปัญญาในการผลิตทองรูปพรรณสืบทอดมาต่อเนื่องยาวนานกว่า 100 ปี สภาพภูมิสังคม วัฒนธรรมของเมืองพานทองชี้ให้เห็นว่าในอดีตนั้นเคยเป็นเมืองท่าและตลาดกลางซื้อขาย แลกเปลี่ยนที่สําคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดชลบุรี เดิมมีชื่อว่า ท่าตะกูด ณ ที่แห่งนี้เองเป็นจุดเริ่มต้นของการประกอบอาชีพช่างทอง ซึ่งในสังคมและวัฒนธรรมไทยถือว่าทองเป็นสิ่งสูงค่าและมี ความหมายเป็นสิริมงคล ช่างทองโบราณเมืองพานทองยังคงรักษากระบวนการทําเครื่องทองแบบดั้งเดิมไว้อย่างมั่นคง เช่น คุณภาพทอง กรรมวิธี รูปแบบและลวดลาย ทั้งลวดลายดั้งเดิม ลวดลายโบราณพื้นฐานและลวดลายพื้นถิ่น รวมถึงการออกแบบประยุกต์งานให้ได้รับความนิยมอยู่เสมอ ตลอดจนการถ่ายทอดความรู้เชิงช่าง เหล่านี้นับเป็นภูมิปัญญาหรือความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในตัวคน ซึ่งควรค่าแก่การรักษาไว้ให้ดํารงคงอยู่โดยใช้แนวทางการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมอย่างมีคุณภาพของกรมศิลปากรในการอนุรักษ์ สืบสาน และส่งเสริมภูมิปัญญาเครื่องทองโบราณของช่างทอง พานทอง จังหวัดชลบุรี