Abstract:
ประเพณีที่เชื่อมโยงความเชื่อ ความศรัทธา ความผูกผันของผู้คนที่มีต่อพุทธศาสนา แสดงรากเหง้าความเป็นมาตามแต่ละท้องถิ่นได้อย่างชัดเจน แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว การอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมดั้งเดิมให้คงอยู่ได้นั้น ต้องปรับเปลี่ยนให้เป็นไปตามยุคตามสมัยเท่าทันกับกระแสโลก ดั้งนั้นการรับเอาสิ่งใหม่ ๆ เข้ามา โดยไม่รู้ความหมายที่แท้จริง ทำให้ระบบความ เชื่อดั้งเดิมบางอย่างค่อย ๆ จางหายลดทอนคุณค่าลงคุณค่าที่แท้จริงบางอย่างถูกบิดเบือน งานวิจัยนี้มีจุดประสงค์ 1) ศึกษาประวัติความเป็นมาอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ประเพณีบุญหลวงการละเล่นผีตาโขน มีสาระความสำคัญ เรื่องความเชื่อความศรัทธาผีบรรพบุรุษ และอิทธิพลที่ส่งผลถึงรูปแบบความเปลี่ยนแปลง 2) สร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมด้วยเทคนิคผสม (Mixed Media) โดยเลือกใช้วัสดุที่แสดงสัญลักษณ์และความหมายตามแนวคิดด้วยเครื่องปั้นดินเผา ไม้ เหล็ก และผ้า ขึ้นรูปอิสระในรูปแบบกึ่งนามธรรม จำนวน 2 ชุด ชุดที่ 1 มี 1 ชิ้น ขนาดสำเร็จ 160 เซนติเมตร ชุดที่ 2 มี 2 ชิ้น ขนาดสำเร็จ 180 เซนติเมตร 3) ออกแบบงานประติมากรรมตกแต่งที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานที่ ติดตั้งในบริเวณวัดโพนชัย พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ผลงานนี้ผู้วิจัยต้องการสร้างความทรงจำแก่นักท่องเที่ยว และผู้ที่พบเห็นให้มีส่วนร่วมกับ ผลงานได้ซึ่งผลงานประติมากรรมนี้ช่วยส่งเสริมในด้านการทำนุบำรุงศาสนาและวัฒนธรรม ประเพณี ที่สะท้อนคุณค่าของระบบความเชื่อ ความศรัทธา ด้วยรูปแบบผลงานประติมากรรมแนวใหม่ ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวให้กับอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย และประเทศไทยในทางอ้อม