Abstract:
การวิจัยเรื่องคนกับการจัดการละครเวที: กรณีศึกษาเทศกาลศิลปะการละครนิพนธ์บางแสนละครก่อนจบ มหาวิทยาลัยบูรพา มีวัตถุประสงค์การวิจัย เพื่อศึกษากระบวนการจัดการ เทศกาลศิลปะการละครนิพนธ์บางแสนละครก่อนจบของนิสิตชั้นปี 4 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552-2558 และเพื่อนําเสนอแนวทางการจัดการเทศกาลศิลปะการละครนิพนธ์บางแสนละครก่อนจบอย่างยั่งยืน โดยมีกรอบแนวคิดการวิจัย คือ แนวคิดกระบวนการบริหารพอส์คอร์บ (POSDCORB) ของลูเธอร์ คูลิค (Luter Gulick) แนวคิดการบริหารจัดการ “คน” ด้วยแนวคิดการดํารงชีวิตแบบจิตปัญญา โดย ทับทิม วงศ์ประยูร และพรทิพย์ คําพอ และแนวคิดเรื่องการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยพรธิดา วิเศษศิลปานนท์ การวิจัยครั้งนี้ใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ มีลักษณะเป็นกรณีศึกษา ประกอบไปด้วย เทศกาลศิลปะการละครนิพนธ์บางแสนละครก่อนจบของมหาวิทยาลัยบูรพา โดยเก็บข้อมูลจากการศึกษาเอกสาร การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก และการสังเกตการแบบมีส่วนร่วม โดยเข้าร่วมชม การแสดงของเทศกาลและร่วมเสวนาหลังชมการแสดง เพื่อวิเคราะห์กระบวนการจัดการเทศกาลของแต่ละรุ่น ผลการวิจัยพบว่า จากการจัดเทศกาลโดยภาพรวม กระบวนการจัดการที่นิสิตใช้นั้นไม่ได้มีระบบแบบแผนอย่างละเอียด ซึ่งการทํางานในแต่ละครั้งมีการประชุมของกลุ่มเพื่อน ๆ และจัดแบ่งฝ่ายการทํางานตามความถนัดหรือความสนใจ โดยการประชุมนั้นไม่ได้มีการสรุปแผน การทํางานอย่างชัดเจน และไม่ได้มีการระบุ วัน เวลา ของการจัดแสดงอย่างชัดเจนซึ่งวัน เวลา การแสดงนั้น ขึ้นอยู่กับความพร้อมของโปรดักชั่นนั้น ๆ แต่มีรุ่นที่ 5 และ 6 ที่มีการจัดการที่ต่างจากรุ่นอื่น ๆ คือ มีระบบการวางแผนที่ละเอียดและกําหนด วัน เวลา ของการจัดแสดงไว้อย่างชัดเจน ซึ่งกระบวนการจัดการเป็นไปตามกระบวนการบริหารพอส์คอร์บอย่างครบถ้วน และการจัดเทศกาล ครั้งนี้มีฐานผู้ชมเพิ่มมากขึ้น จนนําไปสู่วัฒนธรรมการชมละคร ซึ่งการทํางานของรุ่นนี้ได้รับคําชื่นชมจากคณาจารย์และรุ่นน้อง โดยประสบการณ์ทํางานนั้นได้ถูกถ่ายทอดและนําไปสู่แผนการนําเสนอแนวทางการจัดการเทศกาลสู่รุ่นน้องต่อไป