Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1. ค่านิยมในการทำงาน ความผูกพันต่อองค์การ และพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีต่อองค์การ 2. อิทธิพลของค่านิยมในการทำงานที่ส่งผลต่อความผูกพันต่อองค์การ 3. อิทธิพลของค่านิยมในการทำงานที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีต่อองค์การ และ 4. อิทธิพลของความผูกพันต่อองค์การที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การของพนักงานเจเนอเรชั่น ซี (Generation Z) ในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนสถานประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม จังหวัดระยอง กลุ่มตัวอย่าง ในการศึกษาวิจัย คือ พนักงานเจเนอเรชั่น ซี อายุระหว่าง 18-25 ปี ซึ่งปฏิบัติงานในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนสถานประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม จังหวัดระยอง จำนวน 306 คน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยัน และการวิเคราะห์สมการโครงสร้าง ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างให้ระดับความสำคัญต่อค่านิยมในการทำงานใน 6 ด้านมากที่สุด ได้แก่ ด้านค่านิยมด้านความยุติธรรม ค่านิยมด้านความเชื่อวัฒนธรรมดั่งเดิมตามแบบแผนพิธีการ ค่านิยมด้านการปฏิบัติงานด้วยความรอบคอบ ค่านิยมด้านความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าต่อผลสำเร็จของงาน ค่านิยมด้านความคิดสร้างสรรค์ และค่านิยรมด้านงานที่มีเกียรติ ตามลำดับ ส่วนความผูกพันต่อองค์การของผู้ตอบแบบสอบถามโดยรวมอยู่ในระดับมากทุกด้าน และพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีต่อองค์การ โดยรวมอยู่ในระดับมากทุกด้านเช่นกัน และผลจากการวิเคราะห์โมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของอิทธิพลของค่านิยมในการทำงานที่ส่งผลต่อความผูกพันต่อองค์การ และพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีต่อองค์การของพนักงานเจเนอเรชั่น ซี อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน สถานประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม จังหวัดระยอง พบว่า ค่านิยมในการทำงานมีอิทธิพลต่อความผูกพันต่อองค์การ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (B = 0.892, P < .05) โดยที่ความผูกพันต่อองค์การ มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีต่อองค์การ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (B = 0.679, P < .05) และค่านิยมในการทำงานมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีต่อองค์การ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (B = 0.243, P<.05) ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ เมื่อพิจารณาค่าสัมประสิทธิ์การพยากรณ์ พบว่า แบบจำลองสามารถอธิบายความแปรปรวนของความผูกพันต่อองค์การได้ 0.796 (ร้อยละ 79.6) และอธิบายความแปรปรวนของพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีต่อองค์การได้ 0.813 (ร้อยละ 81.3) ซึ่งสามารถอธิบายได้ว่า ความผูกพันต่อองค์การ และพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีต่อองค์การเกิดจากอิทธิพลของค่่านิยมในการทำงาน