Abstract:
เมือกหลั่งจากเซลล์สร้างเมือก ในหอยสองฝาเมือกมีความสำคัญในการดักจับอนุภาคอาหารและมีปฏิสัมพันธ์กับจุลินทรีย์ที่มากับน้ำ และอาจมีความสำคัญต่อการป้องกันตัวจากสารเคมีปนเปื้อนในแหล่งน้ำอีกด้วยแม้จะมีรายงานการศึกษาโครงสร้างของเซลล์สร้างเมือกบริเวณเนื้อเยื่อแมนเทิลในหอยบางชนิด แต่ยังไม่พบการศึกษาในหอยนางรมปากจีบ (Saccostrea cucullata) งานวิจัยนี้จึงใช้เทคนิคทางมิญชวิทยาศึกษาโครงสร้างของเซลล์สร้างเมือกบริเวณแมนเทิลและใช้เทคนิคโปรตีโอมิกส์ศึกษาโปรตีนที่หลังออกมาในเมือก นอกจากนี้ยังศึกษาบทบาทของเซลล์สร้างเมือกและเมือกต่อการป้องกันตัวจากสารเคมีปนเปื้อนดีดีทีซึ่งเป็นสารพิษที่สะสมในระบบนิเวศทางทะเลผลการศึกษาพบเซลล์สร้างเมือกจำนวนมากแทรกอยู่ภายในเนื้อเยื่อบุผิวของแมนเทิล ภายในเซลล์สร้างเมือกพบนิวเคลียสที่บริเวณฐานของเซลล์และพบมิวซินแกรนูลจำนวนมากในไซโทพลาซึม ผลการทดสอบด้วยสารดีดีทีพบว่าสารดีดีทีส่งผลกระทบต่อเนื้อเยื่อและกระตุ้นการสร้างเซลล์สร้างเมือกบริเวณเนื้อเยื่อบุผิวเพิ่มขึ้น ผลการวิเคราะห์โปรตีนด้วยเทคนิคเจลสองมิติพบว่าสารดีดีทีส่งผลต่อปริมาณโปรตีนที่พบในเซลล์สร้างเมือกของกลุ่มทดสอบเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) รวม 14 จุด สามารถระบุชนิดโปรตีนในกลุ่มนี้ได้ 4 จุด โดยพบ สารดีดีทีกระตุ้นการแสดงออกของโปรตีน 3 ชนิด ได้แก่ Immunoglobulin kappa constant, Actin และSarcoplasmic calcium-binding protein และลดการแสดงออกของโปรตีน Serum albumin แสดงให้เห็นว่าสารดีดีทีนอกจากจะกระตุ้นเซลล์สร้างเมือกและการหลั่งเมือกแล้วยังมีผลต่อโปรตีนในเมือกอีกด้วยผลจากการศึกษาในครั้งนี้ยืนยันว่านอกจากการดักจับอาหารแล้ว เมือกยังมีความสำคัญต่อกลไกการป้องกันตัวของหอยนางรมจากสารเคมีในน้ำอีกด้วย