Abstract:
ความเค็มจัดเป็นภาวะเครียดจากปัจจัยทางกายภาพและเป็นสาเหตุทำให้การเติบโตและผลผลิตของข้าวลดลงโดยเฉพาะข้าวเป็นพืชที่อ่อนแอต่อความเค็ม เนื่องจากความหลากหลายของสายพันธุ์ข้าวของไทยนับได้ว่าเป็นความหลากหลายทางพันธุกรรมที่ให้ฐานข้อมูลของเชื้อเมล็ดพันธุ์โดยการคัดเลือกสายพันธุทนเค็มด้วยการคัดเลือกทางสรีรวิทยา วัตถุประสงค์ในการศึกษาครั้งนี้เพื่อศึกษาการตอบสนองทางสรีรวิทยาที่ระดับความเค็ม 2 (กลุ่มควบคุม), 4, 6, 8 หรือ 10 เดซิซีเมนต่อเมตร (dS m-1) ที่ระยะเวลา 0,7,14 และ 21 วัน ในข้าว 4 พันธุ์ ได้แก่ ขาวดอกมะลิ 105 กข31 กข 41 และสุพรรณบุรี 1) เก็บข้อมูลการเติบโตปริมาณรงควัตถุที่เกี่ยวข้องในการสังเคราะห์ด้วยแสง ปริมาณโพรลีน และปริมาณโปรตีนในใบข้าวจากการทดลองพบว่า ต้นกล้าข้าวมีการ เติบโตและปริมาณรงควัตถุลดลง เมื่อความเข้มข้นของเกลือสูงขึ้นและระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น โดยเฉพาะข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 เมื่อได้รับเกลือความเข้มข้น 6, 8 หรือ 10 dS m-1 เป็นเวลา 21 วัน มีอาการใบเหลืองไหม้และตายในข้าวพันธุ์สุพรรณบุรี 1 เมื่อได้รับเกลือความเข้มข้น 10 dS m-1 เป็นเวลา 21 วัน มีการเติบโตน้อยที่สุดเปรียบเทียบกับข้าวสายพันธ์อื่นอย่างไรก็ตามข้าวพันธุ์ กข41 ยังสามารถเติบโตได้มากกว่าข้าวพันธุ์อื่น นอกจากนี้พบว่า ความเค็มสามารถชักนำให้มีการสะสมโพรลีนเพิ่มมากขึ้นในข้าวทั้ง 4 พันธุ์ในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และ กข31 ที่ได้รับเกลือความเข้มข้น 10 dS m-1 เป็นเวลา 14 และ 21 วัน ตามลำดับ ชี้ให้เห็นว่าข้อมูลการเจริญเติบโตในข้าวพันธุ์ กข41 สามารถเติบโตต่อไปได้ในขณะที่ข้าวสายพันธุ์อื่นมีการเติบโตน้อยลงเมื่อได้รับเกลือโซเดียมคลอไรด์เป็นระยะเวลา 21 วัน เป็นไปได้ว่าข้าวพันธุ์ กข41 จัดเป็นข้าวพันธุ์ทนเค็ม