Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาการไม่ปฏิบัติหลักการความร่วมมือการสนทนาผ่านภาพยนตร์เรื่องสั้นสิงคโปร์ จำนวนทั้งหมด 6 เรื่อง โดยแบ่งประเภทของการละเมิดออกเป็นสองประเภท และอีกสี่ด้าน คือ การละเมิดหลัก (Violating the maxim) และการละเมิดหลักแบบมีนัย (Flouting the maxim) โดยการละเมิดหลักทั้ง 2 ประเภทประกอบด้วย หลักด้านคุณภาพ หลักด้านปริมาณ หลักด้านความสัมพันธ์ และหลักด้านวิธีการข้อมูลที่ศึกษาเป็นบทสนทนาภาษาอังกฤษจากภาพยนตร์เรื่องสั้น สิงคโปร์ จำนวน 6 เรื่อง 78 บทสนทนา การวิเคราะห์ข้อมูลประกอบด้วย การวิเคราะห์ความถี่ และค่าร้อยละ รวมทั้งการอธิบายเชิงพรรณนา ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1. ผลการวิจัยพบการไม่ปฏิบัติตามหลักการความร่วมมือการสนทนาของตัวละครทั้งสองประเภทได้แก่ การละเมิดหลัก และการละเมิดหลักแบบมีนัย 2. ประเภทของการละเมิดหลัก (Violating the maxim) ของตัวละครที่พบมากที่สุดได้แก่ การละเมิดหลักด้านความสัมพันธ์ (Maxim of relation) คิดเป็นร้อยละ 66.67 รองลงมาได้แก่ การละเมิดหลักด้านคุณภาพ (Maxim of quality) คิดเป็นร้อยละ 22.22 และการละเมิดหลักด้านวิธีการ (Maxim of manner) คิดเป็นร้อยละ 11.11 ตามลำดับ ทั้งนี้ไม่พบการละเมิดหลักด้านปริมาณ (Maxim of quantity) 3. ประเภทของการละเมิดหลักแบบมีนัย (Flouting the maxim) ที่พบมากที่สุดได้แก่ การละเมิดหลักแบบมีนัยด้านคุณภาพ (Maxim of quality) คิดเป็นร้อยละ57.97 รองลงมาพบการละเมิดแบบมีนัยในด้านปริมาณ (Maxim of quantity) คิดเป็นร้อยละ 24.64 และการละเมิดแบบมีนัยด้านความสัมพันธ์ (Maxim of relation) คิดเป็นร้อยละ 15.94 สุดท้ายคือการละเมิดหลักแบบมีนัยด้านวิธีการ (Maxim of manner) คิดเป็นร้อยละ 1.45 ผลการวิจัยดังกล่าว สรุปได้ว่าการละเมิดหลัก และการละเมิด หลักแบบมีนัยขึ้นอยู่กับความตั้งใจอุปนิสัยและลักษณะของผู้พูดเป็นสำคัญ 4. เมื่อเปรียบเทียบประเภทของการละเมิดหลัก (Violating the maxim) และการละเมิดหลักแบบมีนัย (Flouting the maxim) พบว่า มีการละเมิดหลักแบบมีนัย (Flouting the maxim) มากกว่าการละเมิดหลัก (Violating the maxim)