Abstract:
งานวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาสถานภาพปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงเชิงประชากร ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยสิ่งแวดล้อม และการให้บริการเชิงนิเวศของปลิงดำแข็งในพื้นที่ปกปักพันธุกรรมพืชทางทะเล หมู่เกาะแสมสารอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรีโดยทำการสำรวจ 2 เดือนต่อครั้ง ตั้งแต่เดือนมกราคม 2560 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2560 จากการศึกษาพบว่าค่าเฉลี่ยของขนาดประชากรและค่าความหนาแน่นเฉลี่ยของปลิงดำแข็งมีค่าเท่ากับ 85 ตัวและ 0.42 ตัวต่อตารางเมตร ตามลำดับ โดยใน เดือนพฤศจิกายนพบมากสุด (144 ตัว) รองลงมาคือเดือนพฤษภาคม (135 ตัว) เดือนมิถุนายน (99 ตัว) และพบน้อยสุดในเดือนมกราคม (35 ตัว) ปลิงดำแข็งมีการเปลี่ยนแปลงเชิงประชากรตลอดช่วงเวลาที่ทำการศึกษา ซึ่งจำนวนประชากรมีความสัมพันธ์ในทิศทางบวกกับปริมาณสารแขวนลอยในน้ำทะเล (R=0.909) ปลิงดำแข็งมีการแบ่งตัวตลอดทั้งปีซึ่งมีการแบ่งตัวมากที่สุดในเดือนมีนาคม (80%) และบริเวณแอ่งน้ำขึ้นน้ำลงของหาดเทียนนี้น่าจะสามารถรองรับปลิงดำแข็งได้ประมาณ 100-200 ตัว/40 ตารางเมตร ซึ่งถ้าเกินกว่าความสามารถในการรองรับของแอ่งน้ำแล้วปลิงดำแข็งจะอพยพออกไปในบริเวณเขตใต้ระดับน้ำขึ้นน้ำลงปลิงดำแข็งอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นดินทรายกินอินทรียวัตถุในดินตะกอน พื้นทะเลเป็นอาหารโดยมีการกินอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน ในส่วนของการให้บริการเชิงนิเวศของปลิงดำแข็งพบว่าค่าเฉลี่ยของปริมาณอินทรียวัตถุในดินตะกอนที่อยู่รอบตัวในทางเดินอาหาร และในมูลมีเท่ากับ 0.78±0.11, 1.76±0.26 และ 0.85±0.16 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ ปริมาณอินทรียวัตถุในทางเดินอาหารมีค่าแตกต่างจากดินตะกอนที่อยู่รอบตัวและมูลของปลิงดำแข็งอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ดังนั้นปลิงดำแข็งมีบทบาทการให้บริการเชิงนิเวศของการเป็นสัตว์ที่ช่วยหมุนเวียนอินทรียวัตถุในดินตะกอนซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับสัตว์หน้าดินได้ใช้ประโยชน์ต่อไป และคุณภาพน้ำบริเวณหาดเทียนอยู่ในเกณฑ์ที่ดีเมื่อเทียบกับมาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ