Abstract:
ศึกษาผลของสารสกัดจากใบผักแครด (Syne drella nodiflora (L.) Gaertn.) ด้วยเอทานอล 95% ต่อการงอกและการเจริญเติบโตของข้าว (Oryza sativa L.) และกวางตุ้ง (Brassica chinensis Jusl var parachinensis (Bailey) Tsen & Lee) พบว่า สารสกัดจากใบผักแครดสามารถยับยั้งการงอกและการเจริญเติบโตของต้นกล้าข้าวและกวางตุ้งได้โดยการยับยั้งมากขึ้นเมื่อความเข้มข้นของสารสกัดเพิ่มขึ้น และพบว่าความเข้มข้นของสารสกัดที่สามารถยับยั้งการงอกของเมล็ดข้าวและกวางตุ้งได้ 50 เปอร์เซ็นต์ (IC50) มีค่า 15.16 และ 2.96 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ เมื่อนำ สารสกัดที่ IC50ไปหาค่า osmotic potential (ΨS) พบว่ามีค่าเท่ากับ -0.19 และ -0.08 MPa ตามลำดับ จากนั้นทำการศึกษาผลของ ΨS ของสารสกัดต่อการงอกและการเจริญเติบโตของข้าวและกวางตุ้ง โดยเปรียบเทียบกับสารละลายซูโครส โซเดียมคลอไรด์ และโพแทสเซียมไนเตรด ที่มีค่า ΨS เท่ากับสารสกัด พบว่าที่ ΨS ดังกล่าวของสารละลายซูโครส โซเดียมคลอไรด์และโพแทสเซียมไนเตรดไม่มีผลยับยั้งการงอกของข้าวและกวางตุ้ง ในขณะที่เมล็ดที่ได้รับสารสกัดมีการงอกและการเจริญเติบโตลดลง จึงสรุปได้ว่า ΨSของสารสกัดไม่มีผลต่อการยับยั้งการงอกของข้าวและกวางตุ้งเมื่อทดสอบการดูดน้ำของเมล็ด พบว่า สารสกัดไม่มีผลยับยั้งการดูดน้ำของเมล็ด และเมื่อนำเมล็ดข้าวและกวางตุ้งที่แช่ในสารสกัดเป็นเวลา 7 วัน มาตรวจสอบปริมาณน้ำตาลรีดิวซ์แป้งและโปรตีนในเมล็ด พบว่า ในเมล็ดข้าวมีปริมาณน้ำตาลและโปรตีนต่ำกว่าชุดควบคุม ในขณะที่ปริมาณแป้งสูงกว่าชุดควบคุม ส่วนในเมล็ดกวางตุ้ง มีปริมาณน้ำตาลต่ำกว่าชุดควบคุม ปริมาณแป้งและโปรตีนสูงกว่าชุดควบคุม และจากการศึกษากิจกรรมของเอนไซม์ α-amylase ในเมล็ดข้าวและกวางตุ้ง พบว่า เมล็ดข้าวที่ได้รับสารสกัดมีกิจกรรมต่ำกว่าชุดควบคุม ในขณะที่เมล็ดกวางตุ้งมีกิจกรรมไม่แตกต่างจากชุดควบคุม