Abstract:
งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาหาปริมาณสารประกอบฟีนอลิกและสารประกอบฟลาโวนอยดรวม และฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระรวมถึงฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์แอลฟา-กลูโคซิเดสของส่วนสกัดหยาบ จากน้ำมันหอมระเหยและส่วนสกัดหยาบที่สกัดด้วยตัวทำละลายอินทรีย์ชนิดต่าง ๆ 7 ชนิด คือ เฮกเซน ไดคลอโรมีเทน เอทิลอะซิเตท อะซิโตน เอทานอลเมทานอลและน้ำจากพืชวงศ์ส้ม 3 ชนิด คือ ส่องฟ้าดง ส่องฟ้าและสันโสกจากการทดลองพบว่า ส่วนสกัดหยาบน้ำมันหอมระเหยของส่องฟ้าดงมีฤทธิ์ในการยับยั้งอนุมูลอิสระ (78.08±0.25 %) และยับยั้งเอนไซม์แอลฟา-กลูโคซิเดส (99.56±0.55 %) ดีที่สุด ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณฟีนอลิกรวมที่พบในน้ำมันหอมระเหยของส่องฟ้าดง (45.65±0.50 mgGAE/g) มากที่สุดด้วยในส่วนผลการทดลองการสกัดพืชวงศ์ส้มทั้ง 3 ชนิด ด้วย ตัวทำละลายอินทรีย์นี้ยังพบว่า พืชวงศ์ส้มทั้ง 3 ชนิด นั้นมีปริมาณฟีนอลิกรวมเท่า ๆ กัน (5.57±0.11 ถึง 105.79±5.06 mgGAE/g) โดยส่วนสกัดจากรากของพืชวงศ์ส้มทั้ง 3 ชนิด จะมีปริมาณฟีนอลิก รวมสูงที่สุด เมื่อสกัดด้วยตัวทำละลายที่มีขั้วน้อยถึงปานกลาง และจากการศึกษาปริมาณสารประกอบฟลาโวนอยด์รวมของพืชวงศ์ส้มทั้ง 3 ชนิด พบว่า มีปริมาณฟลาโวนอยด์น้อยมาก เมื่อนำทุกส่วนสกัดหยาบของพืชวงศ์ส้มทั้ง 3 ชนิด ทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ พบว่า พืชวงศ์ส้มทั้ง 3 ชนิด มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่ดีพอ ๆ กัน (6.92±0.32 ถึง 96.54±0.25 %) ในส่วนสกัด ตัวทำละลายที่มีขั้วน้อยถึงปานกลาง นอกจากนี้ยังพบว่า ส่วนสกัดหยาบของสันโสกในทุก ๆ ตัวทำละลายยกเว้น น้ำมีฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์แอลฟา-กลูโคซิเดสดีที่สุด (0.32±0.43 ถึง 99.94±0.59 %) และดีกว่าสารมาตรฐานอคาร์โบส (84.27±0.93 %) อีกด้วย