Abstract:
เนียงนก (Archidendron bubalinum) และเนียง (Archidendron jiringa) เป็นพืชท้องในภาคใต้ของไทยเมล็ดของพืชทั้งสองนิยมนำมารับประทานแกล้มกับอาหาร นอกจากนี้พืชดังกล่าว ยังมีการนำไปใช้ในการแพทย์แผนไทย เช่น ใช้ฝักในการ รักษาโรคเบาหวาน และใช้ใบพอกรักษา โรคผิวหนัง เป็นต้น ในการศึกษานี้เป็นการทดสอบหาปริมาณสารประกอบฟีนอลิกรวม สารประกอบ ฟลาโวนอยด์รวม ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อะซิทิลโคลีนเอสเทอเรสจากส่วนสกัดชั้นต่าง ๆ ของเนียงนกและเนียง ซึ่งส่วนสกัดดังกล่าวนั้นเตรียมโดยการสกัดแบบต่อเนื่อง (Soxhlet extraction) ด้วยตัวทำละลายอินทรีย์ 7 ชนิดคือ เฮกเซน ไดคลอโรมีเทน เอทิลอะซิเตท อะซิโตน เอทานอล เมทานอลและน้ำ จากผลการทดลองพบว่า สารสกัดจากเปลือกรากในชั้นอะซิโตนของทั้ง เนียงนกและเนียงมีปริมาณสารประกอบฟีนอลิกรวมสูงที่สุด และสารสกัดจากเนียงนก (396.51±2.94 mgGAE/g) มีปริมาณสารประกอบฟีนอลิกรวมสูงกว่าเนียง (358.25±12.68 mgGAE/g) นอกจากนี้ พบว่า สารประกอบฟลาโวนอยด์รวมในพืชทั้งสองชนิดมีปริมาณน้อยมากจากการศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ DPPH พบว่า สารสกัดหยาบจากเนียง (42.17±0.45 ถึง 100.89±0.78%) ที่ความเข้มข้น 2000 g/mL มีร้อยละการต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าเนียงนก (11.10±0.42 ถึง 98.95±0.15%) ในขณะที่ทุกสารสกัดหยาบจากเนียงนกที่ความเข้มข้น 2000 g/mL มีร้อยละในการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ อะซิทิลโคลีนเอสเทอเรสสูงกว่าสารสกัดหยาบจากเนียงอีกด้วย