Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นมาและบทบาทของท้าวเวสสุวัณ เพื่อวิเคราะห์บทบาทและรูปแบบของท้าวสุวัณในสังคมและวัฒนธรรมไทยตั้งแต่อดีต-ปัจจุบัน และเพื่อสังเคราะห์สถานภาพในปัจจุบันของบทบาทของท้าวเวสสุวัณที่ปรากฏในสังคมและวัฒนธรรมไทยใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ และนํากรอบแนวคิดของกรมศิลปากรในส่วนของวัฒนธรรมมาใช้ในการวิจัยโดยเก็บข้อมูลจากการศึกษาเอกสารและการศึกษาภาคสนามในแหล่งข้อมูลที่ปรากฏหลักฐานชัดเจนถึงบทบาทและรูปแบบของท้าวเวสสุวัณ ผลการวิจัยพบว่า ท้าวเวสสุวัณมีบทบาทในสังคมและวัฒนธรรมไทย ตั้งแต่ก่อนสมัยราชอาณาจักรไทยจนถึงปัจจุบัน ทั้งในระดับราชสำนักและประชาชนทั่วไปโดยมีบทบาทใน 3 ฐานะคือในฐานะโลกบาลเป็นผู้คุ้มครองป้องกันภยันตรายทั้งปวงในฐานะเทพแห่งความมั่งคั่ง เป็นผู้ประทานทรัพย์สมบัติและโชคลาภ และในฐานะผู้พิทักษ์พระพุทธศาสนาและพุทธสถานเป็นผู้คุ้มครองป้องกันมิให้สิ่งชั่วร้ายรุกล้ำเข้าในเขตพุทธสถาน หรือทําอันตรายพุทธศาสนิกชน บทบาทของท้าวเวสสุวัณทั้ง 3 ฐานะนี้ยังคงอยู่ในสังคมและวัฒนธรรมไทยโดยมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องเหมาะสมกับวิถีชีวิตในสังคมปัจจุบันดังเห็นได้จากบทบาทในฐานะผู้พิทักษ์พระพุทธศาสนาและพุทธสถาน นิยมสร้างเป็นรูปเคารพขนาดใหญ่ในท่ายืนประดิษฐานอยู่ในตําแหน่งสองข้างของทางเข้าพุทธสถาน ซึ่งพบว่ามีรูปลักษณ์ทั้งที่ถูกต้องตามแบบแผนและเบี่ยงเบนไปบางตามความคิดของผู้สร้าง สําหรับบทบาทในฐานะโลกบาลและเทพแห่งความมั่งคั่ง นิยมการสร้างวัตถุมงคลที่เป็นรูปท้าวเวสสุวัณในรูปแบบและขนาดที่สะดวกในการพกพาติดตัว รูปแบบของวัตถุมงคลที่พบส่วนมากได้แก่ รูปเคารพขนาดเล็กแบบหล่อลอยตัวในท่ายืนหรือท่านั่ง เหรียญรูปท้าวเวสสุวัณ และผ้ายันต์รูปท้าวเวสสุวัณในส่วนของการบูชาพบว่ามีแนวปฏิบัติที่เป็นไปตามความเชื่อของผู้เคารพนับถือท้าวเวสสุวัณเพื่อให้เกิดการคงอยู่ของบทบาทของท้าวเวสสุวัณซึ่งมีความสําคัญและมีประโยชน์ต่อสังคมและวัฒนธรรมไทย หากมีการสร้างรูปเคารพท้าวเวสสุวัณควรคํานึงถึงความเหมาะสมในด้านบทบาท และรูปแบบที่ถูกต้องตามแบบแผน