Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อคัดแยกสารบริสุทธิ์จากใบของมะฮึก (Clausena excavata Burm. f.) ที่มีฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรีย Staphylococcus aureus ATCC 25923 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ไวต่อยาเมทิซิลลิน (Methicillin-susceptible Staphylococcus aureus, MSSA) และ S. aureus ATCC 43300 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ดื้อยาเมทิซิลลิน (Methicillin-resistant Staphylococcus aureus, MRSA)โดยใช้วิธีการทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพนำการคัดแยกสาร (Bioassay-guided isolation) และวิเคราะห์โครงสร้างของสารบริสุทธิ์ที่ได้โดยใช้เทคนิคทางเอ็นเอ็มอาร์ สเปคโทรสโคปีโดยทำการเตรียมสารสกัดหยาบจากใบมะฮึกโดยใช้ตัวทำละลายเอทานอลและนำสารสกัดหยาบเอทานอลที่ได้มาทำการสกัดแยกลำดับส่วนด้วยตัวทำละลายเฮกเซนและเอทิลอะซิเตท ตามลำดับ เมื่อนำสารสกัดทั้งสามชนิดที่ได้มาทำการทดสอบฤทธิ์ยับยั้ง S. aureus ATCC 25923 (MSSA) และ S. aureus ATCC 43300 (MRSA) ด้วยวิธี disk diffusion พบว่า ส่วนสกัดย่อยเอทิลอะซิเตทของมะฮึกแสดงฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียทดสอบทั้งสองชนิดได้ดีที่สุด การตรวจหาค่าความเข้มข้นของสารสกัดเอทิลอะซิเตทจากใบมะฮึกที่ต่ำที่สุดที่สามารถยับยั้งแบคทีเรีย (Minimum inhibitory concentration, MIC) และฆ่าแบคทีเรีย (Minimum bactericidal concentration, MBC) ด้วยวิธี broth macrodilution พบว่า ค่า MIC และ MBC ของสารสกัดเอทิลอะซิเตทจากใบมะฮึกที่ใช้ในการต้านแบคทีเรียทดสอบทั้งสองสายพันธุ์มีค่าอยู่ในช่วง 32-64 และ 128-256 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ตามลำดับ การคัดแยกสารบริสุทธิ์ที่มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียทดสอบจากส่วนสกัดย่อยเอทิลอะซิเตท โดยทำการแยกสารประกอบ ต่าง ๆ ในส่วนสกัดย่อยเอทิลอะซิเตทด้วยคอลัมน์โครมาโตกราฟีตรวจสอบรูปแบบและฤทธิ์ต้านแบคทีเรียทดสอบของสารที่แยกได้แต่ละส่วนแยกย่อยด้วยเทคนิคโครมาโตกราฟีแบบเยื่อบาง และไบโอออโตกราฟี (bioautography) ตามลำดับ สามารถแยกสารบริสุทธิ์ที่มีฤทธิ์ยับยั้ง MSSA และ MRSA ได้จากส่วนแยกย่อยลำดับที่ F3 และ F6 เมื่อนำมาวิเคราะห์หาโครงสร้างทางเคมีพบว่า สารบริสุทธิ์ทั้งสองชนิดที่แยกได้ คือ 5-geranyloxy-7-hydroxycoumarin และ Clauslactone A ตามลำดับ โดยค่า MIC ของสารทั้งสองชนิดอยธ่ในช่วง 2-4 และ 256-512 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ตามลำดับ ค่า MBC ของ 5-geranyloxy-7-hydroxycoumarin อยู่ในช่วง 2-8 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ในขณะที่ค่า MBC ของ Clauslactone A ที่ระดับความเข้มข้นสูงสุดที่ใช้ทดสอบยังไม่สามารถฆ่าเชื้อทดสอบได้ (1024 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร) การสำรวจการกระจายเชิงพื้นที่ของต้นมะฮึกในพื้นที่โครงการพัฒนาป่าชุมชนบ้านอ่างเอ็ด ตำบลตกพรม อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรีพบต้นมะฮึก กระจายอยู่ทั่วพื้นที่ที่ทำการศึกษาโดยส่วนใหญ่การเจริญเติบโตของต้นที่อยู่ภายในป่าจะมีขนาดเล็กกว่าต้นที่พบบริเวณขอบป่า