Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปริมาณฟีนอลิกทั้งหมด ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในสารสกัดสาหร่ายน้ำจืด และปริมาณคลอโรฟิลล์ในสาหร่ายน้ำจืดสด 4 ชนิด ได้แก่ สาหร่ายไกต๊ะ (Microspora sp.) สาหร่ายไกไหม (Cladophora sp.) สาหร่ายเตา (Spirogyra sp.) และสาหร่ายลอน (Nostochopsis sp.) ในจังหวัดน่าน โดยสกัดด้วยตัวทำละลายเอทานอลบริสุทธิ์ ด้วยวิธีการสกัดสาหร่ายน้ำจืด 2 วิธีคือ วิธีการสกัดแบบแช่ และวิธีการสกัดแบบใช้เครื่องเขย่าสาร ผลการวิจัยพบว่า การวิเคราะห์หาปริมาณสารประกอบฟีนอลิกทั้งหมดด้วยวิธี Folin-Ciocalteu phenol test สารสกัดจากสาหร่ายเตามีปริมาณมากที่สุดด้วยวิธีการสกัดทั้ง 2 วิธี มีค่าเท่ากับ 179.18 ± 0.13 mgGAE/g extract ด้วยวิธีการสกัดแบบแช่ และ 204.29 ± 0.25 mgGAE/g extract ด้วยวิธีการสกัดแบบใช้เครื่องเขย่าสาร สำหรับการศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี DPPH วิธี ABTS และวิธี FRAP พบว่า สารสกัดจากสาหร่ายเตามีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระสูงสุดมีค่าเท่ากับ 323.71 ± 0.72, 574.19 ± 3.88 และ 386.72 ± 1.61 mgTE/g extract ตามลำดับ และจากการศึกษาปริมาณคลอโรฟิลล์ที่มีอยู่ในสาหร่ายน้ำจืดแต่ละชนิดด้วยวิธี Spectrophotometric ด้วยตัวทำละลายอะซิโตนบริสุทธิ์ พบว่า สาหร่ายไกต๊ะมีปริมาณคลอโรฟิลล์เอ และคลอโรฟิลล์บีสูงสุดมีค่าเท่ากับ 2.31 ± 0.17 และ 1.57 ± 0.13 mg/g extract ตามลำดับ ผลการวิจัยข้างต้น สามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นประโยชน์ และสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชนให้ช่วยกันอนุรักษ์สาหร่ายในท้องถิ่น อีกทั้งตระหนักถึงคุณค่า และนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์อาหารได้