Abstract:
คุณภาพน้ำที่เสื่อมโทรมและการเกิดสภาวะยูโทรฟิเคชั่นเป็นปัญหาที่สำคัญสำหรับแหล่งน้ำซึ่งมีแนวโน้มพบมากขึ้นในประเทศไทย ซึ่งการวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำและสภาวะยูโทรฟิเคชั่นในแม่น้ำจันทบุรีและปากน้ำแหลมสิงห์ ทำการศึกษา 3 ครั้ง ได้แก่ เดือนมกราคม (ฤดูแล้ง) เมษายน (ต้นฤดูฝน) และกรกฎาคม (ฤดูฝน) พ.ศ. 2561 ทั้งหมด 17 สถานี แบ่งเป็นพื้นที่แม่น้ำ 6 สถานี และปากแม่น้ำ 11 สถานี ผลการศึกษาคุณภาพน้ำทั่วไป พบว่าอยู่ในเกณฑ์แหล่งน้ำผิวดินประเภทที่ 2 (PCD, 2006) โดยเฉพาะปริมาณออกซิเจนละลายน้ำส่วนใหญ่มีค่าสูงกว่า 6 mg/l ในส่วนของสารอาหารและคลอโรฟิลล์-เอ พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล และสถานี โดยซิลิเกตมีการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล และมีความสัมพันธ์กับสารอาหารอนินทรีย์ละลายน้ำอื่นๆ นอกจากนี้ พบว่า พื้นที่แม่น้ำจันทบุรี มีฟอสฟอรัสเป็นปัจจัยจำกัดของกำลังการผลิตขั้นต้นสำหรับแหล่งน้ำ ในส่วนการประเมินสภาวะยูโทรฟิเคชั่นพบว่า แม่น้ำจันทบุรีจัดอยู่ในแหล่งน้ำมีที่มีความอุดมสมบูรณ์ระดับต่ำกว่ายูโทรฟิเคชั่น ส่วนบริเวณปากแม่น้ำในช่วงฤดูฝนจะมีค่าอยู่ใน ระดับสูงกว่ายูโทรฟิเคชั่น (Smith et al., 1999) ทั้งนี้บางสถานีมีสารอาหารและคลอโรฟิลล์-เอ สูงกว่าระดับยูโทรฟิเคชั่นถึง 5 เท่า ซึ่งมีความเสี่ยงสูงในการทำให้เกิดสภาวะเสื่อมโทรมของแหล่งน้ำ ซึ่งสามารถทำให้เกิดสภาวะ Hypoxia ส่งผลต่อ สิ่งมีชีวิตในแหล่งน้ำและกิจกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งของจังหวัดจันทบุรีได้โดยผลการศึกษาสามารถนำไปใช้สนับสนุนการบริหารจัดการและการกำหนดแนวทางการป้องกันสภาวะความเสื่อมโทรมของแหล่งน้ำในอนาคตต่อไปได้