Abstract:
การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอิทธิพลของสารอาหารอนินทรีย์ละลายน้ำต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะ ยูโทรฟิเคชั่นในบริเวณอ่าวตราด โดยแบ่ง
การศึกษาออกเป็น 2 ฤดูกาลได้แก่ ฤดูแล้ง (เดือนมีนาคม) และฤดูฝน (เดือนกรกฎาคม) ทำการสำรวจและเก็บข้อมูลในพื้นที่อ่าวตราดทั้งสิ้น 15 สถานี ประกอบด้วยปัจจัยคุณภาพน้ำทั่วไป (อุณหภูมิ ความเค็ม และออกซิเจนละลายน้ำ) คลอโรฟิลล์-เอ แอมโมเนียม ไนไตรท์ ไนเตรท ซิลิเกต และ
ออโธฟอสเฟต ผลการศึกษาพบว่าฤดูกาลมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะยูโทรฟิเคชั่นในพื้นที่อ่าวตราด ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของ
สารอนินทรีย์ละลายน้ำในกลุ่มของไนโตรเจน และฟอสฟอรัส โดยพบว่าในช่วงฤดูฝนสารอนินทรีย์ไนโตรเจนมีค่าสูงมากเกินระดับ ยูโทรฟิเคชั่น ซึ่งทำให้ปริมาณคลอโรฟิลล์-เอ สูงตามด้วยจนทำให้เข้าสู่สภาวะ Hypertrophic (สูงกว่า eutrophic 5 เท่า) นอกจากนี้ยังพบว่า ฟอสฟอรัสจะเป็นปัจจัยจำกัดการเจริญเติบโตของแพลงก์ตอนพืชในช่วงฤดูฝน โดยมีสัดส่วน redfield ratio (N:P) เท่ากับ 45.7 ทั้งนี้หากมีการเพิ่มฟอสฟอรัสลงในอ่าวผ่านทางกิจกรรมการใช้ประโยชน์ต่าง ๆ บนแผ่นดินในช่วงเวลาดังกล่าว ก็จะส่งผลให้อ่าวตราดเข้าสู่สภาวะการเสื่อมโทรมของแหล่งน้ำจากการสะพรั่งของแพลงก์ตอนพืชในอนาคตได้