Abstract:
เสม็ดแดงเป็นพืชที่พบได้ทั่วไปในเขตภาคตะวันออกของประเทศไทย โดยเฉพาะในเขตโครงการพัฒนา
ป่าชุมชนบ้านอ่างเอ็ด จังหวัดจันทบุรี พืชชนิดนี้ถูกใช้เป็นยาสมุนไพรพื้นบ้านสำหรับป้องกันและรักษาโรคได้หลายโรค มีรายงานก่อนหน้านี้ซึ่งทำในส่วนสกัดน้ำร้อนแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระได้เป็นอย่างดี แต่ก็ยังไม่มีการศึกษาถึงสารที่เป็นองค์ประกอบในเสม็ดแดงที่มีฤทธิ์ดังกล่าว ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงต้องการที่จะทำการศึกษาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่เป็นองค์ประกอบอยู่ในส่วนสกัดย่อยและแฟรกชันย่อยต่าง ๆ ของใบเสม็ดแดงหลังจากที่ผ่านการทำโครมาโตกราฟีแบบคอลัมน์โดยอาศัยคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระเป็นตัวนำทางในการทำบริสุทธิ์สาร และเปรียบเทียบฤทธิ์ดังกล่าวกับสารสกัดหยาบ จากผลการทดลอง พบว่า ส่วนสกัดย่อยเอทิลอะซิเตทมีปริมาณฟีนอลรวมสูงที่สุด (151.458 ± 1.360 มิลลิกรัมสมมูลของกรดแกลลิก/กรัมของส่วนสกัด) และยังสามารถกำจัดอนุมูล DPPH ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (EC50 = 0.071 ± 0.002 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร) นอกจากนี้ยังมีความสามารถในการให้อิเล็กตรอนได้ค่อนข้างดี โดยมีค่า FRAP เท่ากับ 890.885 ± 4.724 มิลลิกรัมสมมูลของ Trolox/กรัมของส่วนสกัด ดังนั้น ส่วนสกัดเอทิลอะซิเตทจึงถูกเลือกที่จะนำไปแยกด้วยคอลัมน์ต่อไป หลังจากผ่านคอลัมน์แล้ว แฟรกชันที่มีฤทธิ์ยังคงมีความสามารถในการกำจัดอนุมูล DPPH ได้สูงขึ้น (94.36%) และมีค่า FRAP เท่ากับ 767.373 ± 3.272 มิลลิกรัมสมมูลของ Trolox/กรัมของส่วนสกัด