Abstract:
หัวหอมเป็นพืชที่นิยมนำมาใช้ในการประกอบอาหารที่อุดมไปด้วยสารออกฤทธิ์จากธรรมชาติหลากหลายชนิด โดยเฉพาะสารกลุ่มฟลาโวนอยด์เป็นสารที่มีปริมาณสูงในหัวหอมและมีฤทธิ์ทางด้านเภสัชวิทยาในการต้านการอักเสบ การตรวจสอบเครือข่ายปฏิสัมพันธ์ทางชีวภาพบนพื้นฐานโมดูลจะเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ค้นพบกลไกการต้านการอักเสบของสารออกฤทธิ์กลุ่มฟลาโวนอยด์ที่พบในหัวหอม ในงานวิจัยนี้จึงอาศัยกระบวนการทางชีวสารสนเทศในการสืบค้นข้อมูลโปรตีนเป้าหมายข้อมูลปฏิสัมพันธ์ระหว่างโปรตีนกับโปรตีนและข้อมูลโปรตีนการอักเสบ การวิเคราะห์เครือข่ายบนพื้นฐานโมดูล และการแปลผลทางชีวภาพ จากการศึกษาพบว่าสารออกฤทธิ์ที่พบในหัวหอมทั้งหมดเกี่ยวข้องกับวิถีการส่งสัญญาณ MAPK และ NF-𝜅B ซึ่งเป็นวิถีที่ควบคุมกระบวนการภายในเซลล์และการผลิตสารสื่อกลางการอักเสบ ผ่านการออกฤทธิ์ที่โปรตีนการอักเสบที่เป็นโปรตีนเป้าหมายจำนวน 5 ชนิด ได้แก่ MAPK14, NFKB1, NOS2, PTGS2 และ TNF ซึ่งโปรตีนเหล่านี้จะถูกนำมาพิจารณาสำหรับการเป็นโปรตีนเป้าหมายเพื่อยืนยันผลในระดับห้องปฏิบัติการต่อไป