Abstract:
หอยเชอรี่ (Pomacea canaliculata) ถูกจัดเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานในประเทศไทยและมีผลต่อการลดลงของจำนวนประชากรหอยโข่งพันธุ์พื้นเมือง (Pila spp) โดยหอยเชอรี่แสดงพฤติกรรมการกินอาหารมากกว่าหอยโข่งพันธุ์พื้นเมืองและมีแนวโน้มที่มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดีกว่าหอยโข่งพันธุ์พื้นเมือง ความเป็นพิษของโลหะหนักในสิ่งแวดล้อมอาจส่งผลต่อการตอบสนองทางพฤติกรรมต่าง ๆ และพยาธิสภาพของเซลล์ในเนื้อเยื่อหอย ดังนั้นงานวิจัยนี้
มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมการกินอาหารและพยาธิสภาพของเซลล์ในระบบทางเดินอาหารของหอยเชอรี่และหอยโข่งพันธุ์พื้นเมือง (P. pesmei) ที่ได้รับตะกั่วซึ่งเป็นโลหะหนักที่ใช้เป็นต้นแบบในการศึกษาครั้งนี้ที่ระดับความเข้มข้นแตกต่างกัน (0.05 0.5 และ 5 ppm) จากผลการศึกษาในห้องปฏิบัติการพบว่าหอยเชอรี่แสดงพฤติกรรมการกินอาหารมากกว่าหอย
โข่งพันธุ์พื้นเมือง ผลการศึกษาพยาธิสภาพของเซลล์ในเนื้อเยื่อต่อมย่อยอาหารพบว่าหอยเชอรี่มีการเสียสภาพของเนื้อเยื่อบุผิวน้อยกว่าหอยโข่งพันธุ์พื้นเมืองแต่มีจำนวนเซลล์เบโซฟิ ลิคและแกรนูลสี เข้มมากกว่าหอยโข่งพันธุ์พื้นเมือง ส่วนเนื้อเยื่อหลอดอาหารของหอยเชอรี่มีการเพิ่มจำนวนเซลล์มิวคัสมากกว่าหอยโข่งพันธุ์พื้นเมือง ผลการศึกษาเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมการกินอาหารและพยาธิสภาพของเซลล์ในระบบทางเดินอาหารของหอยทั้ง 2 ชนิดพบว่าไม่มีความสัมพันธ์กัน อย่างไรก็ตามผลการศึกษาพบว่าหอยเชอรี่มีความทนทานต่อสารละลายตะกั่วในขณะที่หอยโข่งพันธุ์พื้นเมืองสะสมสารละลายตะกั่วในเนื้อเยื่อได้สูง ดังนั้นหอยทั้ง 2 ชนิดนี้อาจถูกใช้เป็นแนวทางในการศึกษาหอยฝาเดียวน้ำจืดทั้ง 2 ชนิดเพื่อใช้เป็นสัตว์ต้นแบบในการติดตามและเฝ้า ระวังผลกระทบจากการปนเปื้อนตะกั่วในสิ่งแวดล้อมได้