Abstract:
ฟิล์มบางไทเทเนียมคาร์ไบด์เคลือบบนวัสดุรองรับต่าง ๆ ด้วยวิธี ดีซี แมกนีตรอน โคสปัตเตอริง
โดยได้ศึกษาผลของกระแสไฟฟ้าให้กับเป้าสารเคลือบไทเทเนียม และเวลาในการเคลือบที่มีต่อสมบัติ
ทางกายภาพของฟิล์มที่เคลือบได้ด้วย XRD, SEM, AFM, Raman spectroscopy, XPS และ UV-vis
spectrophotometry จากผลการทดลองของฟิล์มที่เคลือบได้ด้วยกระแสไฟฟ้าให้กับเป้าสาร
เคลือบไทเทเนียมต่าง ๆ พบว่า ฟิล์มบางไทเทเนียมคาร์ไบด์ที่เคลือบได้บนแผ่นซิลิกอนและ
กระจกสไลด์ มีโครงสร้างผลึกแบบเฟซเซ็นเตอร์คิวบิก และเมื่อกระแสไฟฟ้าให้กับเป้าสารเคลือบ
ไทเทเนียมเพิ่มขึ้น มีผลทำให้ฟิล์มที่เคลือบได้มีความเป็นผลึก ความหยาบผิว ขนาดเกรน ความหนา
และอัตราส่วนของไทเทเนียมต่อคาร์บอนมีค่าเพิ่มขึ้น โดยที่กระแสไฟฟ้าให้กับเป้าสารเคลือบ
ไทเทเนียมเท่ากับ 500 mA ทำให้ฟิล์มที่เคลือบได้บนวัสดุรองรับต่างๆ เป็นสารประกอบไทเทเนียม
คาร์ไบด์ที่มีสีเทา ส่วนผลการทดลองของฟิล์มไทเทเนียมคาร์ไบด์เคลือบได้ด้วยเวลาในการเคลือบ
ต่างๆ พบว่า เมื่อเวลาในการเคลือบเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ฟิล์มมีความเป็นผลึก ความหยาบผิว ขนาดเกรน
ความหนาและค่าการสะท้อนแสงเพิ่มขึ้น แต่ทำให้อัตราส่วนของไทเทเนียมต่อคาร์บอนมีค่าลดลง
โดยผลการวัดสีในระบบ CIE L*a*b* พบว่าสีของฟิล์มทั้งหมดที่เคลือบได้ที่เวลาต่างๆ อยู่ในโทนสีเทา