Abstract:
แบบจำลองไฮไดรไดนามิค Princeton Ocean Model (POM) ได้ถูกนำมาใช้ศึกษาการไหลเวียนเชิง 3 มิติของกระแสน้ำในอ่าวไทยตอนบน โดยพิจารณา ลม น้ำขึ้น-น้ำลง และน้ำท่า เป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ ผลที่ได้แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลของรูปแบบการไหลเวียนของกระแสน้ำที่สอดคล้อง กับทิศทางของลมมรสุม กระแสน้ำที่ผิวทะเลเคลื่อนที่ไปตามทิศทางของลม ในขณะที่กระแสน้ำในที่ลึกลงไปมีทิศทาตรงข้าม เกิดจากการไหลแทนที่น้ำที่ผิวทะเล ไดเวอร์เจน (divergence) และคอนเวอร์เจน (convergence) ที่ผิวทะเลสอดคล้องกับการเกิดปรากฏการณ์น้ำผุด (upwelling) และน้ำมุด (downwelling) ตามลำดับ จากการคำนวณค่ากระแสน้ำฌฉลี่ยตลอดความลึกพบว่า เกิดการไหลเวียนแบบตามเข็มนาฬิกาในช่วงมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และแบบทวนเข็มนาฬิกาในช่วงมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ รูปแบบการไหลเวียนกระแสน้ำที่ผิวทะเลจากแบบจำลองมีความสอดคล้องกับค่าที่ได้มาจากการตรวจวัด อย่างไรก็ดี พบความไม่สอดคล้องของผลการเปรียบเทียบในเดือนกรกฎาคม ซึ่งอาจเกิดจากลักษณะของลมที่แตกต่างกันในแต่ละปี อิทธิพลของน้ำจากตอนกลางของอ่าวไทย อิทธิพลของน้ำท่าหรือจากธรณีสัณฐานของพื้นทะเล จึงควรที่จะต้องทำการศึกษากันต่อไปในอนาคต ถึงปัจจัยและกลไกของการเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว