Abstract:
ทำการศึกษาผลของความเค็มต่อการเปลี่ยนแปลงค่าออสโมลาลิตี้ของเลือดกั้งตั๊กแตน (Miyakea nepa) แบบเฉียบพลันที่เวลา
0, 0.5, 1, 3, 6 และ 12 ชั่วโมง และแบบค่อยๆ เปลี่ยนแปลงความเค็มที่เวลา 24 และ 48 ชั่วโมง โดยเจาะเลือดกั้งตั๊กแตนแล้วนำไปวัดค่า
ออสโมลาลิตี้ด้วยเครื่องวัดความเข้มข้นของสารละลาย (Vapor Pressure Osmometer 5520) ที่ความเค็ม 4 ระดับ คือ 30, 25, 20 และ
15 psu ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส สำหรับผลการศึกษาการเปลี่ยนแปลงความเค็มแบบเฉียบพลันพบว่า ค่าออสโมลาลิตี้ของเลือด
เปลี่ยนแปลงตามความเค็มที่ลดลง ที่ระดับความเค็ม 30, 25 และ 20 psu ที่เวลา 12 ชั่วโมง มีค่าออสโมลาลิตี้เท่ากับ 982±11,
793±7 และ 686±15 mOsmol/kg ตามลำดับ ส่วนที่ระดับความเค็ม 15 psu พบว่ากั้งตั๊กแตนตายทั้งหมดหลังจากเวลาที่ 1 ชั่วโมง
และมีค่าออสโมลาลิตี้ที่เวลา 1 ชั่วโมง เท่ากับ 665±15 mOsmol/kg ส่วนการเปลี่ยนแปลงความเค็มแบบค่อยๆ เปลี่ยนแปลงพบว่า
ค่าออสโมลาลิตี้ของเลือดเปลี่ยนแปลงตามความเค็มที่ลดลง ที่ระดับความเค็ม 30, 25, 20 และ 15 psu ที่เวลา 24 ชั่วโมง มีค่า
ออสโมลาลิตี้เท่ากับ 993±11, 824±6, 687±5 และ 542±7 mOsmol/kg ตามลำดับ และที่เวลา 48 ชั่วโมง มีค่าออสโมลาลิตี้เท่ากับ
985±7, 830±8, 686±4 และ 545±6 mOsmol/kg ตามลำดับ จากผลการศึกษาสามารถสรุปได้ว่า หากมีการเปลี่ยนแปลงความเค็ม
แบบเฉียบพลันนั้น ความเค็มที่กั้งตั๊กแตนสามารถทนอยู่ได้นั้นไม่ควรต่ำกว่า 20 psu ส่วนที่ความเค็ม 15 psu นั้น กั้งตั๊กแตนสามารถ
ทนอยู่ได้แต่จะต้องค่อยๆ ลดระดับความเค็มลง กั้งตั๊กแตนจึงสามารถปรับตัวอยู่ได้ เมื่อเปรียบเทียบความเข้มข้นของเลือดกั้งตั๊กแตนกับ
น้ำที่อาศัยอยู่ พบว่ากั้งตั๊กแตนมีความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงความเค็มแบบ osmoconformer และมีความทนทาน
ต่อความเค็มอยู่ในช่วงกว้าง (euryhaline) คืออยู่ในช่วง 15-30 psu