Abstract:
งานวิจัยนี้ทำขึ้นเพื่อพัฒนาอัลกอริธึมเพื่อใช้คำนวณค่าความเค็มจากคุณสมบัติเชิงแสงที่เกี่ยวข้องกับสารอินทรีย์ละลายน้ำ (DOM) ในบริเวณอ่าวไทยตอนบน ข้อมูลที่ใช้ในการศึกษาได้จากการสำรวจคุณภาพน้ำและคุณสมบัติเชิงแสงของน้ำในบริเวณอ่าวไทยตอนบน ระหว่างเดือนตุลาคมและธันวาคมของปี พ.ศ. 2546 และเดือนมกราคม พฤษภาคม และตุลาคมปี พ.ศ. 2547 พบว่าการแพร่กระจาย ในแนวราบของความเค็มและ DOM มีแนวโน้มที่สอดคล้องกัน โดยบริเวณที่มีความเค็มต่ำจะมีปริมาณของ DOM สูง ซึ่งเปลี่ยนแปลงไป ตามฤดูกาลที่เกี่ยวข้องกับลมมรสุมและการไหลเวียนของกระแสน้ำในอ่าว จากการวิเคราะห์การถดถอยของความสัมพันธ์ระหว่างค่า
ความเค็มและคุณสมบัติเชิงแสงของน้ำทะเลที่เกี่ยวข้องกับ DOM พบว่าอัลกอริธึมที่เหมาะสมต่อการนำไปใช้ประมาณค่าความเค็มใน อ่าวไทยตอนบนอยู่ในรูปของฟังก์ชัน
S = 3.57 ln (Ra) + 32.73, R2 = 0.49
เมื่อ S คือ ค่าความเค็ม (psu) และ Ra คือ Rrs (412)/Rrs (565) โดยที่ Rrs (412) และ Rrs (565) คือค่าการสะท้อนพลังงานที่ความยาวคลื่น 412 nm และ 565 nm ตามลำดับ ความถูกต้องของการประมาณค่าความเค็มตามความสัมพันธ์นี้เปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลขึ้นอยู่กับ อิทธิพลของปริมาณ องค์ประกอบและแหล่งที่มาของ DOM ที่เป็นผลมาจากปริมาณน้ำท่า กิจกรรมของสิ่งมีชีวิตในทะเล และการละลายกลับจากตะกอนที่พื้นทะเล