Abstract:
การศึกษาเครื่องสังฆภัณฑ์ ได้แก่ ธรรมาสน์ ตู้พระไตรปิฎกหรือตู้พระธรรม และโต๊ะหมู่บูชา ใน ๑๐ วัดของตำบลต่าง ๆ ในอำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี พบว่า มีธรรมาสน์บุษกร (ทรงสูง) ที่ปัจจุบันยังคงใช้อยู่ ๔ วัด คือ วัดโบสถ์ วัดอุทกเขปสีมาราม วัดเนินตามาก และวัดกุฏโง้ง รูปแบบของธรรมาสน์มีทั้งที่เป็นฐานทึบและฐานโปร่งมีสี่เสา ธรรมาสน์ที่เก่ามากที่สุดคือธรรมาสน์ของวัดโบสถ์มีอายุประมาณ ๑๒๑ ปี แม่บันใดธรรมาสน์มี ๒ แบบ คือ แม่บันไดรูปสามเหลี่ยม และ แม่บันไดรูปนาค สำหรับธรรมาสน์แบบตั่งที่ใช้อยู่ในปัจจุบันทั้ง ๑๐ วัดเป็นของใหม่ทั้งหมด ธรรมาสน์ทั้งหมดยังคงรักษารูปแบบเดิมในสมัยเก่าไว้ได้ การศึกษาเรื่อง ตู้พระไตรปิฎกหรือตู้พระธรรม ที่เป็นตู้พระธรรมแบบเก่าลงรักษ์ปิดทอง แต่ไม่ได้นำใช้ในปัจจุบันมีแห่งเดียวอยู่ที่วัดเนินตามาก ตู้พระธรรมที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นของใหม่ทั้ง ๑๐ วัด รูปแบบของตู้พระธรรมเป็นรูปแบบเฉพาะตัวที่มองดูแล้วทราบว่าใช้กันเฉพาะในวัดเท่านั้น ส่วนโต๊ะหมู่บูชารูปแบบเหมือนกันโดยทั่วไปสามารถใช้ได้ทั้งในวัดและตามบ้านเรือนของประชาชน ทั้งนี้เพราะโต๊ะหมู่บูชาเป็นของใหม่ทั้งหมด โต๊ะหมู่บูชาหาซื้อได้ทั่วไปตามร้านขายเครื่องสังฆภัณฑ์โดยเฉพาะทั้ง ๑๐ วัด ในตำบลต่างๆ ของอำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ความมากหลายของเชื้อชาติ วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นมีส่วนในการออกแบบเครื่องสังฆภัณฑ์ในพื้นที่ที่ศึกษาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เช่น การประดับธงกระดาษสีที่วัดโบสถ์ หรือ การประดับผ้าม่านและลูกปัดเป็นสายห้อยระย้าที่วัดอุทกเขปสีมาราม เป็นต้น ในทางพุทธศาสนาการออกแบบเครื่องสังฆภัณฑ์ควรจะมีความเรียบง่ายมากที่สุด รองรับเพียงความต้องการพื้นฐานเท่านั้น งานออกแบบเครื่องสังฆภัณฑ์ที่สวยงามนั้น มาจากุทธศาสนิกชนที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา โดยออกแบบมาให้สวยงามสอดคล้องกับความเชื่อในแต่ละคนและแต่ละวัฒนธรรม สิ่งที่สำคัญในการออกแบบขนานใหญ่สำหรับเครื่องสังฆภัณฑ์สมัยใหม่คือ การสร้างรูปแบบการทำงานที่เหมาะสมกับการใช้งานปัจจุบันมากที่สุดโดยยังคงมีบางส่วนที่แสดงให้เห็นว่าเหมาะสำหรับใช้กันเฉพาะในวัด และโดยที่ไม่ขัดกับข้อกำหนดทางพระพุทธศาสนาอีกด้วย