Abstract:
การวิจัยเพื่อศึกษาวัฒนธรรมจีนที่ศาลเจ้าในภาคตะวันออกคือ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี ตราด นครนายก ปราจีนบุรีและสระแก้ว เพื่อศึกษาแนวความคิด ความสำคัญของวัฒนธรรมของคนไทยเชื้อสายจีนประเภทสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม ภาษาและวรรณกรรมที่ศาลเจ้าในภาคตะวันออกสำหรับเป็นแหล่งการเรียนรู้เพื่อการท่องเที่ยวในภาคตะวันออก ศาลเจ้าจำนวน 51 แห่งเป็นกลุ่มตัวอย่างด้วยวิธีการสำรวจและสัมภาษณ์แล้วนำมาวิเคราะห์ด้วยวิธีการพรรณาธิบายตามแบบการวิจัยเชิงคุณภาพ ผลการศึกษาแสดงให้เห็นชุมชนเมืองท่าชายทะเลภาคตะวันออกซึ่งเป็นชุมชนเก่าของชาวไทยเชื้อสายจีนที่สำคัญ 5 แห่งที่ชลบุรี-บางปลาสร้อย ฉะเชิงเทรา-แปดริ้ว ระยอง จันทบุรีและตราด ชาวจีนจากแผ่นดินแม่ได้ถ่ายทอดภูมิปัญญาวัฒนธรรมด้านจิตใจที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาพุทธนิกายมหายาน ศาสนาเต๋า ลัทธิขงจื้อ กำหนดการออกแบบภูมิปัญญาวัฒนธรรมด้านวัตถุให้กับชาวจีนผู้อพยพอย่างเป็นรูปธรรม ตัวอย่างอาคารสถาปัตยกรรมศาลเจ้าจำนวน 10 ศาลเจ้าจากหลักฐานด้านประวัติการก่อตั้งศาลเจ้า ประติมากรรมจำนวน 8 ประเภทแสดงให้เห็นความเชื่อตามแนวศาสนาพุทธมหายาน ศาสนาเต๋า และลัทธิขงจื้อ รวมทั้งความเชื่อตามตำนานเรื่องเล่าและตำนานประวัติศาสตร์ของจีน ซึ่งมีอิทธิพลต่อแนวความคิดของชาวไทยเชื้อสายจีนที่นำติดตัวอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทย วรรณกรรมจำนวน 11 วรรณกรรมแสดงให้เห็นวรรณกรรมเกี่ยวกับความเชื่อตามแนวศาสนาพุทธมหายาน ศาสนาเต๋า ความเชื่อตามตำนานเรื่องเล่าแบบพื้นบ้านและตำนานประวัติศาสตร์ของจีน ภาษาและวรรณกรรมที่ศาลเจ้าจารึกและเขียนไว้ที่ระฆังบอกถึงคัมภีร์ในศาสนาพุทธนิกายมหายาน ผู้อุทิศ ปีที่สร้างระฆัง โคลงจารึกที่เสา ป้ายทองเหลือง ป้ายเทพเจ้า ป้ายบอกชื่อศาลและอธิบายเรื่องราววรรณกรรม เป็นต้น การวิจัยได้นำเสนอแนวความคิดเพื่อการอนุรักษ์อาคารสถาปัตยกรรม ประติมากรรม และวรรณกรรม รวมทั้งนำเสนอแนวทางการบริหารงานศาลเจ้าแบบใหม่ในรูปของพิพิธภัณฑ์ การจัดการแบบกวานซี่หรือเครือข่ายทางสังคม การให้ชุมชนมีส่วนร่วม การปรับปรุงภูมิสถาปัตยกรรมเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับการท่องเที่ยวเป็นต้น