Abstract:
การวิจัยเพื่อพัฒนาผลงานประติมากรรมเพื่อการบําบัดเด็กออทิสติกมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาผลงานประติมากรรมในการพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่มัดเล็กการกระตุ้นระบบประสาทสัมผัสทางกาย โดยใช้แบบแผนการวิจัยผสมผสานวิธี (Mixed methods research) แบบ The Exploratory Sequential Design โดยใช้วิธีวิจัยเชิงสร้างสรรค์ทัศนศิลป์ (Practice led research) และใช้วิธีการวิจัยเชิงปริมาณควบคู่กันไป ผู้วิจัยในฐานะเป็นประติมากรมีความสนใจที่จะศึกษาพัฒนาผลงานประติมากรรมโดยอาศัยหลักการทฤษฎีจากกระบวนการด้านกิจกรรมบําบัด (Occupational therapy) ศิลปะแบบไคเนติก (Kinetic art) และมูลฐานทางด้านศิลปะ (Element of art) นํามาบูรณาการให้ได้มาซึ่งผลงานประติมากรรมที่สามารถเป็นทางเลือกในการบําบัดเด็กออทิสติก ซึ่งเกิดจากการดําเนินงานโดยแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 สํารวจข้อมูลพื้นฐาน การศึกษาและการค้นคว้าระยะที่ 2 การสร้างและหาคุณภาพเครื่องมือ ระยะที่ 3 การทดลองทดสอบประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญที่เป็นนักกิจกรรมบําบัด ผลการใช้ประติมากรรม เพื่อการบําบัดเด็กออทิสติกเปรียบเทียบก่อนและหลังการทดสอบแบบ One-Group Pretest-Posttest Design ผลงานที่พัฒนาขึ้นมาจะเป็นลักษณะผลงานประติมากรรมที่ประกอบด้วยเครื่องมือที่เป็นกิจกรรม การละเล่นที้สอดคล้องและช่วยส่งเสริมในการบําบัดเด็กออทิสติกจากการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญและจากการทดสอบทางด้านกายภาพ ระยะเวลาทําการทดลอง 4 สัปดาห์สัปดาห์ละ 5 วัน การประเมินวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้แบบค่ามัธยฐาน พิสัยควอไทล์ The Sign Test for Median: One Sample แบบสมมุติฐานนอนพาราเมติก The Wilcoxon Matched Pairs Signed-Ranks Test ผลการวิจัยพบว่า 1. ผลงานประติมากรรมเพื่อการบําบัดเด็กออทิสติก มีการบูรณาการพัฒนาเครื่องมือที่ใช้ในการบําบัดและความงาม อยู่ในระดับดีมาก 2. ความสามารถในการพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่มัดเล็กและการกระตุ้นระบบประสาทสัมผัสทางกาย มีประสิทธิผล ดังนี้ 2.1 เด็กออทิสติก มีความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่หลังจากการใช้ประติมากรรม เพื่อการบําบัดเด็กออทิสติก สูงขึ้นอย่างมีนัยสําคัญทางสถิติที่ระดับ.05 2.2 เด็กออทิสติก มีความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก หลังจากการใช้ประติมากรรม เพื่อการบําบัดเด็กออทิสติก สูงขึ้นอย่างมีนัยสําคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2.3 เด็กออทิสติก มีความสามารถในการกระตุ้นระบบประสาทสัมผัสทางกายหลังจากการใช้ประติมากรรมเพื่อการบําบัดเด็กออทิสติกสูงขึ้นอย่างมีนัยสําคัญทางสถิติที่ระดับ .05