Abstract:
การวิจัยเรื่อง ระฆังโบราณ: การจัดทําทะเบียนและการสื่อความหมาย ณ วัดพระพุทธบาทราชมหาวิหาร มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภูมิสถาน ภูมิสังคมวัฒนธรรมของพื้นที่วิจัย ศึกษาคติความเชื่อและความเชื่อมโยงกับเสียงและความหมาย จัดทําทะเบียน การสื่อความหมายและการจัดระบบเสียงขึ้นใหม่ และจัดทําต้นแบบวิธีการสื่อความรู้สู่แนวคิดหนังสือนําชมระฆังโบราณ การดําเนินการวิจัยใช้กรอบแนวคิดตามหลักการจัดการระบบวัฒนธรรมอย่างมีคุณภาพ การจัดการความรู้ หลักการทางภูมิทัศน์ วัฒนธรรม การจัดทําทะเบียนของพิพิธภัณฑสถานวิทยา การสื่อความหมายขององค์การวิชาชีพด้านมรดก วัฒนธรรมอีโคโมสประเทศไทยและหลักการของระบบเสียงของดนตรีชาติพันธุ์ ผลการวิจัยพบว่า วัดได้รับการสถาปนาจากพระเจ้าทรงธรรม เมื่อ พ.ศ. 2167 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมากว้าง 14.70 เมตร ยาว 29.09 เมตร มีโบราณสถานสิ่งก่อสร้างเสนาสนะ 31 แห่ง ที่สำคัญยิ่ง คือ รอยพระพุทธบาทกว้าง 21 นิ้ว ยาว 5 ฟุต ลึก 11 นิ้ว ประดิษฐานอยู่ภายในพระมณฑป และพบว่า มีหอระฆังราวทอดยาวมีระฆัง จํานวน 72 ใบ จําแนกได้ 6 กลุ่ม คือ กลุ่มระฆังไม่มีลวดลาย จํานวน 14 ใบ กลุ่มระฆังที่มีลวดลายด้านข้าง จํานวน 8 ใบ กลุ่มระฆังลายสังวาลเพชร จํานวน 1 ใบ กลุ่มระฆังลายดอกพิกุล จํานวน 1 ใบ กลุ่มระฆังยุคใหม่เสียงกังวานดี จํานวน 4 ใบ และกลุ่มระฆังยุคใหม่ จํานวน 44 ใบ ทั้งนี้ยังได้จําแนกยุคสมัย ลวดลายและจัดระบบเสียงขึ้นใหม่ ด้วยการเรียงจากเสียงต่ำไปหาเสียงสูง ผู้วิจัยและคณะได้พัฒนาโปรแกรมการจัดทําทะเบียนขึ้นใหม่เป็นระบบทะเบียนที่สะดวกและเข้าถึงง่าย สําหรับระบบเสียงระฆังผู้วิจัยได้วิเคราะห์จําแนกให้เกิดเป็นกระบวนการขั้นตอนที่เหมาะสม ปฏิบัติได้จริงสอดคล้องกับการจัดทําทะเบียนระฆังโบราณ ณ วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร ด้วยการติดตั้งเคลื่อนย้ายตําแหน่งของระฆังขึ้นใหม่ให้สัมพันธ์กับทํานองสวดสรภัญญะอันสื่อความหมายถึง ทํานองที่ไพเราะ สงบ แสดงถึงความเคารพศรัทธาในพุทธศาสนาตรงกับคติความเชื่อของผู้สร้างระฆังถวายวัดเป็นอย่างดี ส่วนระบบทะเบียนใหม่นั้นนํามาใช้บริหารจัดการข้อมูลระฆังราวไว้ให้มั่นคง เป็นหลักฐาน ประวัติ และการค้นคว้าข้อมูลวัตถุเพิ่มเติมได้อย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังได้จัดทําหนังสือนําชมระฆังโบราณ ตลอดจนแหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยว ณ โบราณสถานแห่งนี้