Abstract:
งานวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ (1) ศึกษาสํารวจคุณลักษณะทางวัฒนธรรมและบริบททางสังคมของชุมชนชาวบ้านค้อ (2) เพื่อสํารวจบันทึก วิเคราะห์ข้อมูลภูมิปัญญาด้านวรรณกรรมพื้นบ้าน บทสวด สรภัญญะบ้านค้อ (3) เพื่อนําข้อมูลบทสวดสรภัญญะไปอนุรักษ์โดยเสนอชื่อเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ การวิจัยใช้หลักการและหลักเกณฑ์ของการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมขององค์กรวิชาชีพทางวัฒนธรรมอีโคโมสประเทศไทย การจัดการความรู้การเสนอชื่อเพื่อขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ด้านวรรณกรรมพื้นบ้าน กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กรมส่งเสริมพระพุทธศาสนากระทรวงวัฒนธรรม วิถีชีวิตทางวัฒนธรรมของภาคอีสาน และหลักการวิเคราะห์ดนตรี ชาติพันธุ์ โดยเก็บข้อมูลจากผู้ขับร้องกลอนสรภัญญะ ผู้ประพันธ์ ครู พระภิกษุ และชาวบ้านในพื้นที่ ผลการวิจัยพบว่า คุณลักษณะทางวัฒนธรรมบ้านค้อขึ้นอยู่กับการปกครองจังหวัดมหาสารคาม ชุมชนมีวัดวิไลธรรมมารามเป็นที่พึ่ง มีภูมิปัญญาหลากหลายโดยเฉพาะการสวดสรภัญญะ แบบดั้งเดิมได้รับการสืบทอดมายาวนานกว่า 153 ปี วรรณกรรมพื้นฐานที่เป็นเนื้อหาทั่วไปของสรภัญญะอีสาน คือ บทนําบูชาพระรัตนตรัย บทสรรเสริญ บทหลัก บทธรรมะ และบทสรุปกล่าวลา ฉันทลักษณ์ คือ กลอนหัวเดียวแบบดั้งเดิมและกาพย์ยานีแบบประยุกต์ พบกลอนสรภัญญะรวม 103 กลอน จําแนกตามหมวดหมู่วิเคราะห์ลักษณะทํานองได้ (1) กลอนสรภัญญะแบบดั้งเดิม 47 กลอน (2) กลอนสรภัญญะแบบประยุกต์ 56 กลอน เนื้อหาวรรณกรรมส่วนใหญ่เกี่ยวกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ชาดก คือ พระเวสสันดรชาดก ลักษณะทํานองมีความหลากหลายได้รับอิทธิพลมาจากทํานองลํา หรือทํานองอีสาน ส่วนกลอนสรภัญญะแบบประยุกต์เป็นกลอนที่ได้รับการประพันธ์ขึ้นมาใหม่เนื้อหาวรรณกรรมส่วนใหญ่จะทันสมัยหยิบยกเรื่องราวของวิถีชีวิตประจําวันเหตุการณ์บ้านเมือง ตัวบุคคลมาประพันธ์ ลักษณะทํานอง ดัดแปลงมาจากทํานองโบราณ ทํานองส่วนใหญ่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ไม่หลากหลายเท่ากับทํานองดั้งเดิม ก็มีลักษณะเนื้อหาในด้านเดียวกัน แนวทางการอนุรักษ์ผู้วิจัยได้ดําเนินการตามระเบียบการขอขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ที่ได้กําหนดไว้ในคู่มือของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมต่อไป