Abstract:
หอยนางรมปากจีบ (Saccostrea cucullata) เป็นสัตว์น้ำที่เป็นที่นิยมบริโภคของคนทั่วไป หอยนางรมดำรงชีวิตแบบเกาะอยู่กับที่ และกินอาหารแบบกรองกิน ทำให้มีโอกาสปนเปื้อนจุลชีพ เช่น แบคทีเรียก่อโรค รวมถึงโลหะจากมวลน้ำ ในการทดลองเปรียบเทียบประสิทธิภาพของการลดแบคทีเรียรวมในกลุ่ม Vibrios, V. parahaemolyticus, V. cholera และ E. coli ในหอยนางรมด้วยแสงอัลตราไวโอเลต ในระบบ Depuration แบบน้ำหมุนวนระบบปิด ที่อัตราการไหลของน้ำ 6 ลิตรต่อนาที และ 3 ลิตรต่อนาที พบว่าในทั้งสองการทดลองปริมาณแบคทีเรียรวมในกลุ่ม Vibrios, V. parahaemolyticus และ V. cholera ในหอยนางรมมีค่าลดลงอย่างรวดเร็วเมื่อผ่านการ Depuration ได้ 3 ชั่วโมง จากนั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นระหว่างชั่วโมงที่ 4-20 แล้วจึงเริ่มลดลงอีกจนไม่สามารถตรวจวัดได้ที่ชั่วโมงที่ 96 ส่วนปริมาณ E. coil มีค่าเพิ่มขึ้นในชั่วโมงที่ 3 และลดลงจนตรวจไม่พบที่ 96 ชั่วโมง
การทดลองลดโลหะหนักในหอยนางรมจากอ่างศิลาโดยกระบวนการ Depuration ในระบบน้ำไหลวนแบบปิดขนาดเล็ก ซึ่งออกแบบให้ถ่านกัมมันต์ และซีโอไลท์ดูดซับโลหะหนักน้ำทะเล พบว่าความเข้มข้นเฉลี่ยของ Cd, Cu, Hg, Pb และZn ที่ 0 ชั่วโมง เท่ากับ 0.08±0.02 μ g/g, 26.85±6.08 μ g/g, 4.12±0.73 ng/g, 0.18±0.02 μ g/g, และ 198.35±72.73 μ g/g ตามลำดับ ความเข้มข้นเฉลี่ยของ Cd, Cu, Hg, Pb และ Zn ที่ 48 ชั่วโมง ลดลงเท่ากับ 0.03±0.03 μ g/g, 15.90 ±4.03 μ g/g, 2.51±0.33 ng/g, 0.14±0.04 μ g/g, และ 98.74±51.34 μ g/g ตามลำดับ โดยค่าความเข้มข้นที่ 48 ชั่วโมงของ Cd, Cu, Hg และ Zn มีค่าความเข้มข้นต่ำกว่าชั่วโมงเริ่มต้นที่ 0 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) ยกเว้น Pb โดยอัตราการลดลงของCd, Cu, Hg และ Zn มีค่าเท่ากับ 0.001 μg/hr, 0.228 μg/hr, 0.033 ng/hr และ 2.705 μg/hr ตามลำดับ จากการทดลองนี้พบว่า ระดับความเข้มข้นเริ่มต้นของ Cu และ Zn ที่มีค่าเกินมาตรฐาน เมื่อผ่านกระบวนการ Depuration แล้วมีค่าลดลงมาอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และปริมาณเข้มข้นของโลหะหนักในหอยนางรมมีความสัมพันธ์แบบแปรผกผันกับเวลาที่ 0 ถึง 48 ชั่วโมง