Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพื้นที่ชายหาดบางแสน หมู่บ้านชาวประมงและสวนสาธารณะหาดวอนนภา จังหวัดชลบุรีและทำการวิเคราะห์เพื่อทดลองและหากระบวนการสร้างสรรค์วัสดุจากขยะทะเลในการพัฒ นาต้นแบบศิลปะจากเศษขยะทะเลที่เกิดความเหมาะสมและสะท้อนถึงเรื่องราวของพื้นที่สวนสาธารณะหาดวอนนภาจังหวัดชลบุรีนอกจากนี้ยังเป็นวิธีการกำจัดขยะบริเวณชายหาดเพื่อลดปริมาณขยะตกค้าง ตลอดจนเป็นต้นแบบให้กับส่วนงานอื่นใช้ต่อยอด ผลการศึกษาพื้นที่พบว่า เศษขยะประเภทขวดน้ำพลาสติกชนิด PET โพลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต มีปริมาณมากบริเวณพื้นที่ชายหาดบางแสน จึงนำมาทดลองด้วยการหลอมความร้อนที่ 230 องศาเซลเซียส ผลที่ได้พลาสติกละลายตามแม่แบบรูปทรงที่กำหนด จากนั้นได้ทำการศึกษา กระบวนการพัฒนาเศษขยะวัสดุท้องถิ่นที่เกิดจากการใช้แล้วทิ้งบริเวณชายหาดวอนนภา ได้แก่ เชือกแห และอวน เพื่อสร้างวัสดุรูปแบบใหม่โดยผสมกับเรซิ่นซึ่งเป็นวัสดุที่มีความใกล้เคียงทั้งคุณสมบัติและคุณลักษณะกับพลาสติกจากกระบวนกการทดลองวัสดุทั้ง 2 รูปแบบ สรุปได้ว่า วัสดุรีไซเคิลพลาสติกมีความเปราะบางและแตกหักง่ายกว่า วัสดุเรซิ่นในด้านพื้นผิว (Texture) วัสดุทั้ง 2 แบบให้พื้นผิวที่เรียบแตกต่างที่เรซิ่นให้ความโปร่งใส สามารถมองเห็นเศษขยะทะเลที่อยู่ภายในได้ดีพลาสติกรีไซเคิล จะมีลักษณะทึบแสง สีขาวขุ่น มีลวดลายคล้ายกระเบื้องหินอ่อน การดำเนินการวิจัยสร้างสรรค์นี้ได้แรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมชุมชนที่ส่งผลต่อแนวคิดในการเชื่อมโยงผลงานศิลปะกับสภาพแวดล้อม โดยอ้างอิงหลักการทฤษฎีทางศิลปะและการออกแบบ เพื่อสร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบประติมากรรมจัดวาง (Sculptural Installation) ผลที่ได้จากการวิจัยสร้างสรรค์นี้ ประกอบด้วยผลงาน 4 รูปแบบ คือ 1. ผลงานศิลปะขยะทะเลจากขวดน้ำพลาสติก 2. ผลงานศิลปะ ขยะทะเลจากความไม่สมบูรณ์ของวัสดุพลาสติก 3. ผลงานศิลปะขยะทะเลจากเศษพลาสติก ส่วนเกินในขั้นตอนการหลอมเศษพลาสติก 4. ผลงานศิลปะขยะทะเลจากแห อวน เชือกของการทำประมงโดยภาพรวมด้านสุนทรียภาพการรับรู้ของผลงาน แสดงให้เห็นถึงความรู้สึกที่ขัดแย้งของวัสดุแต่ก็มีความกลมกลืนเมื่อนำมาประกอบกับวัสดุธรรมชาติจากไม้ทั้งในลักษณะหน่วยย่อยและภาพรวมของผลงานที่สื่อสารเรื่องราวความเป็นธรรมชาติในบริบทสมัยใหม่ซึ่งมีความแตกต่างจากการเห็นคลื่นทะเลปกติทั่วไป รูปแบบการซ้ำ และการกระจายจังหวะของจุดและเส้นในแนวนอน และแนวตั้งที่ใช้การลดหลั่นระดับสูงต่ำของผลงานก่อให้เกิดเส้นลวงสายตา (Perceptual Line) เป็นการเชื่อมโยงทางสายตาคล้ายระดับของคลื่นที่สามารถแสดงความรู้สึกเคลื่อนไหวและสอดคล้องกับรูปทรงต้นแบบของคลื่นทะเล