Abstract:
หอยเป๋าฮื้อ H. asinine ที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้เป็นลูกหอยรุ่น F1 ที่มีอายุ 5 เดือน จากศูนย์พัฒนาการประมงทะเลฝั่งตะวันออก จังหวัดระยอง เมื่อเริ่มต้นการทดลอง ลูกหอยมีน้ำหนักเฉลี่ย 0.47±0.16 กรัม และ ความกว้างเฉลี่ย 13.61±1.45 เซนติเมตร สาหร่อยที่ใช้เป็นอาหารของหอยเป๋าฮื้อในการทดลองครั้งนี้ได้แก่ Gracilaria salicornia G. fisheri,sp.,Sargassum sp.Enterromorpha sp.ทำการทดลองเป็นเวลา 16 สัปดาห์ ในระบบน้ำหมุนเวียนกึ่งเปิด โดยคุณภาพระหว่างการทดลองมี ความเค็ม 32-34 ส่วนต่อพัน อุณหภูมิ 26-29 องศาเซลเซียส ความเป็นกรดด่าง 7.7-8.1 ปริมาณแอมโมเนีย 0.00-0.26 มิลลิกรัมต่อลิตร และไนเตรต 0.00-0.13 มิลลิกรัมต่อลิตร
หอยเป๋าฮื้อ H.asinina ที่เลี้ยงด้วย Acathophora sp., G. fisheri และ G. salicornia เป็นกลุ่มที่มีอัตราการเจริญสูงสุดและไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ โดยมีขนาดเมื่อสิ้นสุดการทดลองดังนี้ หอยเป๋าฮื้อที่เลี้ยง Acanthophora sp., G. fisheri และ G. salicornia มีน้ำหนัก 0.99±0.39, 0.97±0.39 และ 0.90±0.41 กรัมและความยาวเปลือก 17.25±2.15,16.55±2.20 และ 16.71±2.30 มิลลิเมตร ตามลำดับ
อัตราการรอดของ H. asinina ที่เลี้ยงด้วย G. fisheri, Acanthophora sp.,G. salicornia, Sargassum sp. และ Enterromorpha sp. เท่ากับ 96.67,95.00,93.33,33.33 และ 0.00 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ
คุณค่าทางอาหารของสาหร่ายที่ใช้ในการทดลองพบว่ากลุ่มที่มีปริมาณโปรตีนสูง ได้แก่ Acanthophora sp. (16.35%), Enterromorpha sp. (16.08%),G. salicornia (16.02%), G. fisheri (14.38%) และ Sargassum sp. (8.16%) ตามลำดับ G. salicornia และ Acanthophora sp.มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตสูงที่สุด G. fisheri และ Sargassum sp.มีปริมาณเส้นไยสูงที่สุด และปริมาณไขมันในสาหร่ายทั้งห้าชนิดไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ
หอยเป๋าฮื้อที่เลี้ยงด้วย G. fisheri, G. salicornia และ Acanthophora sp. มีอัตราการกินอาหารเท่ากับ 0.45, 0.39 และ 0.35 กรัมต่อวันต่อตัว ตามลำดับ และหอยเป๋าฮื้อที่เลี้ยงด้วย Acanthophora sp., G. fisheri และ G. salicornia มีอัตราการแลกเปลี่ยนอาหารเป็นเนื้อเท่ากับ 2.79, 3.60 และ 3.95 ตามลำดับ