กรุณาใช้ตัวระบุนี้เพื่ออ้างอิงหรือเชื่อมต่อรายการนี้: https://buuir.buu.ac.th/xmlui/handle/1234567890/3978
ชื่อเรื่อง: การพัฒนาเทคนิคการเก็บรักษาน้ำเชื้อหอยเป๋าฮื้อ (Haliotis asinina) เพื่อการเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
ชื่อเรื่องอื่นๆ: Development of sperm preservation technology of abalone (Haliotis asinina) for commercial aquaculture
ผู้แต่ง/ผู้ร่วมงาน: วีรพงศ์ วุฒิพันธุ์ชัย
สุบัณฑิต นิ่มรัตน์
คำสำคัญ: หอยเป๋าฮื้อ - - น้ำเชื้อ
หอยเป๋าฮื้อ - - น้ำเชื้อ - - การเก็บและรักษา
สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา
วันที่เผยแพร่: 2559
สำนักพิมพ์: คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
บทคัดย่อ: งานวิจัยเรื่อง การพัฒนาเทคนิคการเก็บรักษาน้ำเชื้อหอยเป๋าฮื้อ (Haliotis asinina) เพื่อการเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์ ได้ศึกษาการเคลื่อนที่ของสเปิร์มหอยเป๋าฮื้อในสภาพต่าง ๆ และการเก็บรักษาน้ำเชื้อหอยเป๋าฮื้อที่อุณหภูมิต่ำโดยไม่เจือจาง และเจือจางในสารละลายบัฟเฟอร์ รวมทั้งประเมินผลของสารไครโอโพรเทคแทนท์ต่อการเคลื่อนที่ของสเปิร์ม ผลของอัตราการลดอุณหภูมิและการเก็บรักษาต่อการเคลื่อนที่ของสเปิร์มหลังการแช่แข็ง ผลของประสิทธิภาพน้ำเชื้อในการปฏิสนธิไข่ ผลการศึกษาพบว่าน้ำเชื้อหอยเป๋าฮื้อที่รวบรวมออกมาใหม่ ๆ สามารถเก็บแช่เย็นนาน 4 ชั่วโมง และยังคงมีการเคลื่อนที่ของสเปิร์มสูง แต่น้ำเชื้อหอยเป๋าฮื้อที่อยู่ในน้ำทะเลมีการเลื่อนที่ของสเปิร์มสูงในระยะ 2 ชั่วโมงแรกเท่านั้น การให้ออกซิเจนสมทบในการแช่เย็นน้ำเชื้อหอยเป๋าฮื้อ ช่วยยืดระยะเวลาเก็บรักษาน้ำเชื้อได้นานกว่าไม่ใช้ออกซิเจนสมทบ โดย culture flask มีความเหมาะสมในการแช่เย็นน้ำเชื้อหอยเป๋าฮื้อที่ การนำน้ำเชื้อหอยเป๋าฮื้อมาเจือจางในสารละลายต่าง ๆ พบว่า การเคลื่อนที่ของสเปิร์มหอยเป๋าฮื้อ ถูกควบคุมโดยแรงดันออสโมติกที่มีค่าสูงขึ้นเมื่อใช้สาร electrolyte และ non-electrolyte ในการกระตุ้นการเคลื่อนที่ของสเปิร์ม การเจือจางน้ำเชื้อหอยเป๋าฮื้อในสารละลายบัฟเฟอร์สูตรต่าง ๆ (artificial seawater, Ringer solution และ calcium free saline; Ca-F saline) ในอัตราส่วน 1:1, 1:2 และ 1:4 พบว่า Ca-F saline เป็นสารละลายบัฟเฟอร์ที่เหมาะสมในการแช่เย็นน้ำเชื้อหอยเป๋าฮื้อ โดยไม่ควรเจือจางเกินอัตราส่วน 1 : 2 เพราะสามารถเก็บรักษาน้ำเชื้อได้นานกว่าชุดการทดลองอื่น ๆ การศึกษาความเป็นพิษของสารไครโอโพรเทคแทนท์ต่อการเคลื่อนที่ของสเปิร์ม ทำโดยนำน้ำเชื้อของหอยเป๋าฮื้อมาเจือจางในสารละลายไครโอโพรเทคแทนท์ 6 ชนิด (dimethyl sulfoxide; DMSO, propylene glycol, acetamide, methanol, ethanol และ ethylene glycol) ที่ระดับความเข้มข้น 5%, 10%, 15% และ 20% ที่ระยะเวลาต่าง ๆ กัน ตั้งแต่ 15-240 วินาที พบว่า DMSO, methanol และ ethylene glycol เป็นสารไครโอโพรเทคแทนท์ที่มีความเป็นพิษต่ำต่อน้ำเชื้อหอยเป๋าฮื้อ การพัฒนาวิธีการแช่แข็งน้ำเชื้อหอยเป๋าฮื้อ โดยนำเอาน้ำเชื้อเจือจางด้วย DMSO ที่ความเข้มข้น 5, 10, 15 และ 20% และลดอุณหภูมิด้วยเครื่องมือลดอุณหภูมิอัตโนมัติในอัตรา 2.5, 5, 7.5, 10 และ 12.5 องศาเซลเซียส/ นาทีไปจนถึงอุณหภูมิสุดท้าย -40 หรือ -80 องศาเซลเซียส ก่อนนำไปเก็บรักษาในถังไนโตรเจนเหลว พบว่า การแช่แข็งน้ำเชื้อหอยเป๋าฮื้อด้วยการใช้ 5 %DMSO และใช้อัตราการลดอุณหภูมิ 10 องศาเซลเซียส/ นาที มาที่อุณหภูมิ -80 องศาเซลเซียส มีเปอร์เซ็นต์การเคลื่อนที่ของสเปิร์มหลังการละลายสูงสุด ในขณะที่การแช่แข็งน้ำเชื้อหอยเป๋าฮื้อด้วยไอไนโตรเจนเหลว สามารถทำได้โดยการแช่แข็งน้ำเชื้อที่ความสูงเหนือผิวหน้าไนโตรเจนเหลว 4 เซ็นติเมตร เป็นเวลา 10 นาที การเก็บรักษาน้ำเชื้อหอยเป๋าฮื้อแช่แข็งในถังไนโตรเจนเหลวนาน 180 วัน ไม่มีผลต่อคุณภาพน้ำเชื้อหลังการละลายแม้ว่าการเคลื่อนที่ของสเปิร์มหลังการละลายมีค่าลดลงเล็กน้อย น้ำเชื้อหอยเป๋าฮื้อแช่แข็งสามารถปฏิสนธิไข่หอยเป๋าฮื้อได้ไม่แตกต่างจากน้ำเชื้อสด แต่น้ำเชื้อหอยเป๋าฮื้อแช่เย็นสามารถปฏิสนธิไข่หอยเป๋าฮื้อ ได้มีประสิทธิภาพต่ำกว่าน้ำเชื้อสด
URI: http://dspace.lib.buu.ac.th/xmlui/handle/1234567890/3978
ปรากฏในกลุ่มข้อมูล:รายงานการวิจัย (Research Reports)

แฟ้มในรายการข้อมูลนี้:
แฟ้ม รายละเอียด ขนาดรูปแบบ 
2560_058.pdf1.79 MBAdobe PDFดู/เปิด


รายการทั้งหมดในระบบคิดีได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ มีการสงวนสิทธิ์เว้นแต่ที่ระบุไว้เป็นอื่น