Abstract:
โรคหืดเป็นโรคเรื้อรังที่ส่งผลโดยตรงต่อภาวะสุขภาพที่สำคัญ โดยเฉพาะในเด็กวัยเรียน เด็กวัยนี้จึงต้องมีการส่งเสริมการจัดการตนเองอย่างเหมาะสมเพื่อให้มีการควบคุมโรคหืดที่มีประสิทธิภาพ วัตถุประสงค์ของการวิจัยกึ่งทดลองครั้งนี้เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมส่งเสริมการจัดการตนเองต่อพฤติกรรมการควบคุมโรคหืดของเด็กวัยเรียนโรคหืด กลุ่มตัวอย่าง คือ เด็กวัย เรียนโรคหืดที่เข้ารับการรักษาในคลินิกโรคหืดของโรงพยาบาลในจังหวัดระยองระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2561 ถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562 คัดเลือกตามคุณสมบัติที่กำหนด และสุ่มเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 20 ราย กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมส่งเสริมการจัดการตนเอง ซึ่งพัฒนามาจากแนวคิดการจัดการตนเองของ Creer (2000) ประกอบด้วย 6 ขั้นตอน คือ 1) การตั้งเป้าหมาย 2) การเก็บรวบรวมข้อมูล 3) การประมวลและประเมินข้อมูล 4) การตัดสินใจ 5) การลงมือปฏิบัติ และ 6) การประเมินผลการปฏิบัติส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติ เครื่องมือวิจัยที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูลคือ แบบสอบถามพฤติกรรมการควบคุมโรคหืดของเด็กวัย เรียนโรคหืด มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .90 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนา และการทดสอบที ผลการวิจัยพบว่า คะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมการควบคุมโรคหืดของกลุ่มทดลองภายหลังได้รับโปรแกรมส่งเสริมการจัดการตนเองดีกว่ากลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ (t 38 = 12.72, p< .001) และสูงกว่าก่อนได้รับโปรแกรมส่งเสริมการจัดการตนเองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t 19 = 21.21, p< .001) ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าโปรแกรมส่งเสริมการจัดการตนเองนี้มีประสิทธิภาพ ผู้ให้การดูแลสุขภาพเด็กวัยเรียนสามารถนำโปรแกรมนี้ไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมตามบริบท เพื่อส่งผลให้เด็กวัยเรียนโรคหืดมีการควบคุมโรคหืดที่ดีได้