Abstract:
เด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าจะช่วยเหลือตนเองได้น้อยจึงส่งผลให้เกิดภาระของผู้ดูแลเด็ก การวิจัยครั้งนี้เป็นแบบหาความสัมพันธ์เชิงทำนายนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยทำนายภาระของผู้ดูแลเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้ากลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ดูแลเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าที่นำเด็กมารับบริการแผนกผู้ป่วยนอกคลินิกพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก สถาบันราชานุกูล จังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 76 คน คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบสะดวกเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562 ถึง เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2562 เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป แบบสอบถามความสามารถในการดูแลตนเองของเด็ก แบบสอบถาม การสนับสนุนทางสังคม และแบบสอบถามภาระการดูแลของผู้ดูแลเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า ซึ่งแบบสอบถามทุกชุดได้ผ่านการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิเรียบร้อยแล้ว และหาความเชื่อมั่นของเครื่องมือวิจัยมีค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาครอนบาค (Cronbach’s alpha coefficient) เท่ากับ .85, .92 และ .93 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติพรรณนา และสถิติถดถอยพหูคูณ ผลการวิจัยพบว่า ความสามารถในการดูแลตนเองของเด็กและการสนับสนุนทางสังคมโดยสามารถทำนายภาระของผู้ดูแลเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าได้ร้อยละ 39.2 (Adjust R 2 = .375, p< .001) ซึ่งปัจจัยที่สามารถทำนายได้ดีที่สุด คือ ความสามารถในการดูแลตนเองของเด็ก สามารถทำนายภาระของผู้ดูแลเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าได้ร้อยละ 23.7 (B = -.441, p< .001) และปัจจัยตัวที่สองคือ การสนับสนุนทางสังคม ร้อยละ 15.5 (B = -.396, p< .001) ผลการศึกษาครั้งนี้เสนอแนะว่า พยาบาลควรพัฒนารูปแบบการดูแลเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า โดยเน้นความสามารถในการดูแลตนเองของเด็กและการสนับสนุนทางสังคมแก่ผู้ดูแลเด็กเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าให้มีมากขึ้น