Abstract:
การวิจัยเรื่องการออกแบบภาพสื่อทางทัศน์ในพื้นที่จีโอพาร์คโคราชสะท้อนพลวัตภูมิศาสตร์บรรพกาล กรณีศึกษาอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมามีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลภูมิศาสตร์บรรพกาลในพื้นที่จีโอพาร์คโคราช เพื่อออกแบบภาพสื่อทางทัศน์ให้กลุ่มตัวอย่างสามารถรับรู้และเข้าใจข้อมูลได้ง่ายขึ้น การวิจัยครั้งนี้ใช้กระบวนการวิจัยแบบผสมผสาน วิจัยเชิงคุณภาพ วิจัยเชิงปริมาณ และวิจัยเชิงการออกแบบ โดยทำการค้นคว้าแสวงหาข้อมูลภูมิศาสตร์บรรพกาลในพื้นที่จีโอพาร์คโคราช ตลอดจนทำการค้นหาสภาพปัญหาการเรียนภูมิศาสตร์บรรพกาลและพื้นฐานความต้องการของกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 170 คน นำมาใช้เป็นข้อมูลในการออกแบบภาพสื่อทางทัศน์โดยประยุกต์เข้ากับหลักการออกแบบกราฟิกข้อมูลของอัลเบร์โต ไคโรและทำการประเมินผลการรับรู้ของกลุ่มตัวอย่างด้วยกระบวนการทดลองแบบ One Group Pre-test Post-test Design ผลการวิจัยพบว่า แนวคิดการอนุรักษ์พื้นที่แบบจีโอพาร์คช่วยให้เกิดผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดนครราชสีมาและประเทศไทย ตลอดทั้งเป็นประโยชน์ในการสร้างความรู้ทางธรณีวิทยาให้แก่ประชาชนได้อย่างยั่งยืน และผลการสังเคราะห์ข้อมูลภูมิศาสตร์บรรพกาลในพื้นที่จีโอพาร์คโคราชร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 ท่าน พบว่า ภูเขาเควสตาที่ยกตัวสูงขึ้นในบริเวณอำเภอสีคิ้วได้ส่งผลต่อสัณฐานภูมิประเทศเกิดเป็นธารน้ำบรรพกาล ซึ่งพัดพาเศษซากฟอสซิลไหลลงมาสะสมในพื้นที่ลุ่มต่ำที่บริเวณอำเภอเฉลิมพระเกียรติและผลการสังเคราะห์รูปแบบภาพสื่อทางทัศน์ จากความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่าง พบว่า ตัวการ์ตูนที่ผสมผสานอัตลักษณ์ท้องถิ่นมีผลทำให้กลุ่มตัวอย่างเกิดความสนใจใฝ่เรียนรู้ข้อมูลเชิงภูมิศาสตร์บรรพกาลได้เป็นอย่างดีและการนำเสนอภาพ สื่อทางทัศน์แบบภาพนิ่งควบคู่กับภาพเคลื่อนไหว ช่วยให้กลุ่มตัวอย่างสามารถจดจำและเข้าใจ เนื้อหาได้ภายในระยะเวลาอันสั้นสอดคล้องกับผลสัมฤทธิ์เปรียบเทียบคะแนนหลังจากกลุ่มตัวอย่างได้รับชมภาพสื่อทางทัศน์พบว่า คะแนนสอบของกลุ่มตัวอย่างมีผลสัมฤทธิ์เฉลี่ยสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05