Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของดุษฎีนิพนธ์เรื่อง “แนวทางการจัดตั้งและการบริหารจัดการศูนย์ข้อมูลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เพื่อวิชาการและการท่องเที่ยว” มีวัตถุประสงค์ เพื่อ 1. ศึกษารวบรวมข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ด้านแนวคิด คติความเชื่อ ภูมิหลังและสถาปัตยกรรม ในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง 2. วิเคราะห์แนวคิดและนโยบายขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับ การศึกษาประวัติศาสตร์การท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 3. วิเคราะห์แนวทางการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลสมเด็จพระเจ้าปราสาทททองในพื้นที่สถาบันอยุธยาศึกษา เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ และการท่องเที่ยวโดยผู้วิจัยใช้รูปแบบการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) โดยมุ่งศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลจากเอกสาร (Document analysis) และการเก็บข้อมูลภาคสนาม (Field study) โดยการสำรวจบันทึกภาพถ่าย การสังเกต การสัมภาษณ์ เพื่อศึกษาตามวัตถุประสงค์ของการวิจัย โดยมีขอบเขตด้านพื้นที่แบบเจาะจง (Purposive sampling) ผลการศึกษาพบว่า ในการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองจะเป็นประโยชน์ในเชิงวิชาการในด้านการศึกษาทางประวัติศาสตร์ความเป็นมาศิลปะ สถาปัตยกรรมในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองจากการรวบรวมข้อมูลจากหนังสือ พงศาวดาร วิทยานิพนธ์ จดหมายเหตุ วารสารงานวิชาการ ประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวเกิดเส้นทางการท่องเที่ยวทางเลือก ในรูปแบบใหม่ และเป็นประโยชน์ต่อแหล่งท่องเที่ยวทั้ง 6 แห่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง คือ วัดไชยวัฒนาราม วัดหน้าพระเมรุ ปราสาทนครหลวง วัดใหม่ประชุมพล พระราชวังบางปะอิน และวัดชุมพลนิกายาราม ในด้านการประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักแก่นักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น จากการสัมภาษณ์นักศึกษา นักท่องเที่ยว ชุมชน ตลอดจน เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสนใจและเห็นประโยชน์จากการจัด ตั้งศูนย์ข้อมูลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง