Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของบุคลิกภาพแบบหวั่นไหวและคติสมบูรณ์แบบเพื่อทำนายความวิตกกังวลทางสังคมของนักศึกษา ระดับปริญญาตรี
ชั้นปีที่ 1 ในภาคใต้ของประเทศไทย และตรวจสอบความสอดคล้องของโมเดล ที่พัฒนาขึ้นกับข้อมูลเชิงประจักษ์ กลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษา ระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 1 ปีการศึกษา 2562 ที่กำลังศึกษา
ในมหาวิทยาลัยภาคใต้ของประเทศไทย จำนวน 400 คน เลือกกลุ่มตัวอย่างโดยวิธีการสุ่มแบบชั้นภูมิ วิเคราะห์ค่าสถิติพื้นฐานโดยใช้โปรแกรม SPSS และวิเคราะห์โมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุโดยใช้โปรแกรม LISREL
ผลการวิจัยปรากฏว่า โมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของบุคลิกภาพแบบหวั่นไหวและ
คติสมบูรณ์แบบเพื่อทำนายความวิตกกังวลทางสังคมของนักศึกษาระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 1 ในภาคใต้ของประเทศไทย ตามสมมติฐานมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ โดยมีค่าสถิติ X2 = 91.42, p = .07, df = 73, X2/df = 1.25, RMSEA = .02, SRMR = .05, RMR = .01, CFI = 1.00, GFI = .97 และ AGFI = .94 ยืนยันว่าบุคลิกภาพแบบหวั่นไหวและคติสมบูรณ์แบบร่วมกันสามารถอธิบายความแปรปรวนของความวิตกกังวล ได้ด้วยค่าความถูกต้องร้อยละ 25.00 ซึ่งบุคลิกภาพแบบหวั่นไหวและคติสมบูรณ์แบบมีอิทธิพลทางบวกต่อความวิตกกังวลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยตัวแปรคติสมบูรณ์แบบมีอิทธิพลต่อความวิตกกังวลสูงสุด รองลงมาคือบุคลิกภาพแบบหวั่นไหว