Abstract:
การศึกษาวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างและพัฒนาแบบทดสอบความสอดคล้องในการมองโลกของวัยรุ่นในจังหวัดชลบุรี เป็นแบบทดสอบที่ผู้วิจัยสร้างจากการวิเคราะห์และสังเคราะห์แนวคิดเกี่ยวกับความสอดคล้องในการมองโลกของแอนโทนอฟสกี้ รวมกับผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับความสอดคล้องในการมองโลก กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการหาคุณภาพและเกณฑ์ปกติ เป็นนักเรียนอายุ 13-18 ปี กำลังเรียนอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 และชั้น ปวช. 1-3 ปีการศึกษา 2544 จากโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาจังหวัด (สปจ.) กรมสามัญศึกษา (สศ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) กรมอาชีวศึกษา (อศ.) และสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย (ทบวง) จำนวน 3,375 คน ได้มาจากการสุ่มแบบแบ่งชั้นตามสัดส่วนของจำนวนประชากร
ผลการวิจัยพบว่า
คุณภาพของแบบทดสอบความสอดคล้องในการมองโลก คือ ความตรงเชิงโครงสรา้งโดยการวิเคราะห์องค์ประกอบได้ 6 องค์ประกอบ ได้แก่ ความสามารถในการเข้าใจ ความอดทน ความสามารถในการปรับตัว การกล้าเผชิญ ความสามารถในการจัดการ การให้คุณค่าและความหมาย มีค่าน้ำหนักตัวประกอบรายข้อตั้งแต่ .340-.666 และจากการหาความสัมพันธ์ระหว่างแบบทดสอบโดยการหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สันได้ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เท่ากับ .514 ค่าสัมประสิทธิ์ความสอดคล้องระหว่างคะแนนรายข้อของแต่ละองค์ประกอบกับคะแนนรวมขององค์ประกอบนับตั้งแต่ .211-.699 ค่าอำนาจจำแนกรายข้อโดยใช้เทคนิค 27% พบว่ามีนัยสำคัญทางสถิติทุกข้อ ค่าความเที่ยงซึ่งคำนวณโดยใช้สูตรสัมประสิทธิ์แอลฟา มีค่าเท่ากับ .8197 มีเกณฑ์ปกติ 4 ชุด คือ เกณฑ์ปกติของวัยรุ่นชายอายุ 13-15 ปี และ 16-18 ปี เกณฑ์แกติของวัยรุ่นหญิงอายุ 13-15 และ 16-18 ปี
จากการทดสอบความแตกต่างของความสอดคล้องในการมองโลกด้วยการทดสอบค่าทีระหว่างเพศชายและเพศหญิงที่ระดับนัยสำคัญที่ .05 ไม่พบความแตกต่าง คะแนนความสอดคล้องในการมองโลกของวัยรุ่น กลุ่มอายุ 16-18 ปี สูงกว่าวัยรุ่นกลุ่มอายุ 13-15 ปี อย่างเห็นได้ชัด จากการวิเคราะห์ความแปรปรวนพบว่า คะแนนความสอดคล้องในการมองโลกของวัยรุ่นในโรงเรียนสังกัด สปจ. ต่ำกว่าวัยรุ่นทุกสังกัด คะแนนความสอดคล้องในการมองโลกของวัยรุ่นในโรงเรียนสังกัดทบวง อศ. และ สศ. ไม่แตกต่างกัน แต่สูงกว่าคะแนนความสอดคล้องในการมองโลกของวัยรุ่นในโรงเรียนสังกัด สช.และสปจ.