Abstract:
การฝึกเดินโดยใช้ไม้ค้ำยันรักแร้พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บรยางค์ส่วนล่าง เพื่อลดการลงน้ำหนักของขาข้างที่มีพยาธิสภาพ การฝึกเดินโดยใช้ไม้ค้ำยันรักแร้แบบมาตรฐานทำให้เกิดความไม่สะดวกสบายในการใช้งาน และปรับระดับความสูงยาก การออกแบบไม้ค้ำยันรักแร้แบบประยุกต์จึงเป็นทางเลือกหนึ่งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเดิน วัตถุประสงค์ของการศึกษาครั้งนี้เพื่อเปรียบเทียบผลของการใช้ไม้ค้ำยันรักแร้แบบมาตรฐาน และประยุกต์ ในอาสาสมัครสุขภาพดี จำนวน 46 คน อายุระหว่าง 18-22 ปี อาสาสมัครทุกคนได้ฝึกเดินด้วยไม้ค้ำยันทั้งสองแบบ ผู้ประเมินวัดค่าเฉลี่ยอัตราการเต้นของหัวใจขณะพัก ค่าเฉลี่ยอัตราการเต้นของหัวใจขณะเดิน และความเร็วเฉลี่ยในการเดินเพื่อคำนวณค่าพลังงานที่สูญเสียขณะเดิน และประเมินระดับความพึงพอใจ ผลจากการศึกษาพบว่า การฝึกเดินโดยใช้ไม้ค้ำยันรักแร้แบบประยุกต์มีอัตราการเต้นของหัวใจขณะเดินและพลังงานที่สูญเสียขณะเดินน้อยกว่าแบบมาตรฐานแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) นอกจากนี้ การฝึกเดินโดยใช้ไม้ค้ำยันรักแร้แบบประยุกต์มีระดับความพึงพอใจในการใช้งานอยู่ในระดับมากที่สุดทั้ง 5 หัวข้อ สรุปได้ว่าไม้ค้ำยันรักแร้แบบประยุกต์ช่วยลดพลังงานที่สูญเสียขณะเดิน ปรับระดับความสูงได้ง่าย พกพาและสะดวกต่อการใช้งานจากการออกแบบที่เหมาะสม มีความมั่นคงปลอดภัย และสามารถเปลี่ยนจากท่ายืนเป็นนั่งและนั่งเป็นยืนได้ง่าย จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ใช้สำหรับการฝึกเดินต่อไป