Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาชุดความคิดเติบโตของนักเรียนวัยรุ่น 2) พัฒนาโปรแกรมการปรึกษากลุ่มเชิงบูรณาการทฤษฎีพฤติกรรมทางปัญญาร่วมกับกิจกรรมกลุ่มพัฒนาความคิด 3) ศึกษาผลของโปรแกรมการปรึกษากลุ่มเชิงบูรณาการทฤษฎีพฤติกรรมทางปัญญาร่วมกับกิจกรรมกลุ่มพัฒนาความคิด การวิจัยแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 ศึกษาชุดความคิดเติบโตของนักเรียนวัยรุ่น กลุ่มตัวอย่างได้แก่ นักเรียนวัยรุ่นชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น เขตบางเขน จำนวน 1,000 คน โดยใช้แบบวัดชุดความคิดเติบโตที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้นและหาเกณฑ์ปกติ (Norms) ของแบบวัด ขั้นตอนที่ 2 การพัฒนาโปรแกรมการปรึกษากลุ่มเชิงบูรณาการและศึกษาผลการใช้โปรแกรม การปรึกษากลุ่มเชิงบูรณาการทฤษฎีพฤติกรรมทางปัญญาร่วมกับกิจกรรมกลุ่มพัฒนาความคิด โดยคัดเลือกนักเรียนที่มีคะแนนชุดความคิดเติบโตอยู่ในระดับต่ำ จำนวน 20 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 10 คน ดำเนินการปรึกษากลุ่ม จำนวน 12 ครั้ง ครั้งละ 90 นาที ใช้สถิติวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบวัดซ้ำ ผลการวิจัยสรุปได้ ดังนี้ 1. ผลการศึกษาชุดความคิดเติบโตของนักเรียนวัยรุ่น เมื่อเทียบกับเกณฑ์ปกติ พบว่า ชุดความคิดเติบโตของนักเรียนวัยรุ่นส่วนใหญ่อยู่ในระดับปานกลาง โดยนักเรียนวัยรุ่นมีชุดความคิดเติบโตอยู่ในระดับสูง จำนวน 221 คน คิดเป็นร้อยละ 22 นักเรียนวัยรุ่นมีชุดความคิดเติบโตอยู่ในระดับปานกลาง จำนวน 553 คน คิดเป็นร้อยละ 55 และนักเรียนวัยรุ่นมีชุดความคิดเติบโตอยู่ในระดับต่ำ จำนวน 226 คน คิดเป็นร้อยละ 23 2. โปรแกรมการปรึกษากลุ่มเชิงบูรณาการเพื่อเสริมสร้างชุดความคิดเติบโตของนักเรียนวัยรุ่น พัฒนาจากแนวคิดทฤษฎีการปรับพฤติกรรมทางปัญญาและกิจกรรมกลุ่ม ประกอบด้วย เทคนิคการตั้งเป้าหมาย เทคนิคการจินตนาการ เทคนิคการค้นหาความคิดอัตโนมัติ เทคนิคการตั้งคำถามแบบโสเครติค เทคนิคการปรับความคิด เทคนิคการปรับพฤติกรรม เทคนิคการแก้ปัญหาพายเทคนิค เทคนิคการมอบหมายงานให้ทำ เทคนิคการทดลองการทำพฤติกรรม เทคนิคการกระตุ้นให้กระทำพฤติกรรม โปรแกรมได้ผ่านการตรวจสอบคุณภาพโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน โดยได้ทดลองใช้ก่อนนำไปใช้จริง ขั้นตอนการปรึกษาประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ ขั้นนำ ขั้นดำเนินการ และขั้นสรุป 3. ชุดความคิดเติบโตของนักเรียนวัยรุ่นกลุ่มทดลอง ระยะหลังการทดลองและระยะติดตามผลสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 4. ชุดความคิดเติบโตของนักเรียนวัยรุ่นกลุ่มทดลอง ระยะหลังการทดลองและระยะติดตามผลสูงกว่าระยะก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05