Abstract:
โครงการนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อประเมินระดับความรุนแรงของปัญหามลพิษทางเสียงจากการจราจรด้วยการตรวจความดังเสียง และเพื่อศึกษาทัศนคติของประชาชนที่อาศัยอยู่ริมเส้นทางจราจรเกี่ยวกับปัญหามลพิษทางเสียงจากการจราจรโดยการใช้แบบสอบถาม การตรวจวัดระดับความดังเสียงทำโดยบันทึกค่าระดับความดังเสียงทุก 10 วินาที แล้วนำมาคำนวณหาเกณฑ์ระดับความดังเสียงต่าง ๆ เพื่อเทียบกับค่ามาตรฐาน พบว่ามีค่าเกินมาตรฐานทั้ง 3 จุด L95 มีค่าอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างสูง คือ 73.05-78.44 เดซิเบล (เอ) ส่วนค่า Leq(8) มีค่าอยู่ในเกณฑ์สูงมากคือ 82.00-95.93 เดซิเบล (เอ)
ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับทัศนคติของประชาชน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่คิดว่าที่ที่ตนอยู่มีปัญหาเกี่ยวกับมลพิษทางเสียงมาก โดยแหล่งกำเนิดที่รบกวนประชาชนมากที่สุดคือรถจักรยานยนต์และรถโดยสารประจำทาง ทั้งนี้ปัญหามลพิษทางเสียงจากการจราทำให้ประชาชนที่อยู่ริมเส้นทางจราจรมีอาการหงุดหงิด รู้สึกรบกวนเวลาสนทนาและเกิดความเครียด
เมื่อนำข้อมูลทั้ง 2 ส่วนมาประกอบกันเพื่อประเมินผลกระทบของปัญหามลพิษทางเสียงพบว่ามีผลเกิดขึ้นใน 2 ลักษณะ ผลกระทบในระยะยาวคือ ประชาชนที่อาศัยริมเส้นทางจราจรสูญเสียการได้ยินหรือประสิทธิภาพในการได้ยินลดน้อยลงก่อนวัยอันควร และผลกระทบในระยะสั้นคือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญเฉพาะบุคคล ทั้งนี้เพื่อพิจารณาโดยรวมพบว่าจุดตรวจวัดทั้ง 3 มีปัญหามลพิษทางเสียงจากการจราจรอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างรุนแรง โดยจุดตรวจวัดที่มี 3 มีปัญหามากที่สุด รองลงมาได้แก่ จุดตรวจวัดที่ 2 และจุดตรวจวัดที่ 1 ตามลำดับ