Abstract:
การศึกษาครั้งนี้เป็นแบบภาคตัดขวาง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลกระทบต่อระบบประสาท และสร้างสมการทำนายการรับสัมผัสสารโทลูอีนที่มีผลกระทบต่อระบบประสาทในแรงงานข้ามชาติพ่นสีโรงงานผลิตของเล่นแห่งหนึ่ง จังหวัดปทุมธานี กลุ่มตัวอย่างเป็นแรงงานข้ามชาติชาวกัมพูชา จำนวน 103 คน ประกอบด้วยกลุ่มรับสัมผัสทำงานที่แผนกพ่นสีและกลุ่มควบคุมทำงานที่แผนกอื่น เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์ประเมินอาการผิดปกติทางระบบประสาทที่ดัดแปลงมาจากแบบสอบถาม Euroquest questionnaire (EQ) ประเมินความบกพร่องด้านประสาทจิตวิทยาจากแบบทดสอบความจำ Digit span forward และ Digit span backward ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ Psychology Experiment Building Language (PEBL) และการตรวจความ เข้มข้นของสารโทลูอีนในปัสสาวะ ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มรับสัมผัสส่วนใหญ่เป็นเพศชายอายุเฉลี่ย 28.7 (SD = 5.5) ปี ศึกษาเกรดหนึ่งถึงหกจำนวนคนที่ไม่ดื่มและเคยดื่มแอลกอฮอล์เท่ากัน ปัจจุบันสูบบุหรี่ร้อยละ 11.6 กลุ่มควบคุมเป็นเพศชายและหญิง จำนวนใกล้เคียงกัน อายุเฉลี่ย 28.4 (SD = 6.2) ปีศึกษาเกรดหนึ่งถึงหก ส่วนใหญ่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์และปัจจุบันสูบบุหรี่ ร้อยละ 5.8 ทั้งกลุ่มรับสัมผัสและกลุ่มควบคุมส่วนใหญ่ไม่เคยทำงานที่เกี่ยวกับสารตัวทำละลายอินทรีย์มาก่อน มีระยะเวลาการทำงานที่แผนกพ่นสีเฉลี่ย 1.7 (SD = 0.8) ปีจำนวนทำงานล่วงเวลารวมต่อสัปดาห์ของกลุ่มรับสัมผัสและกลุ่มควบคุมส่วนใหญ่มากกว่า 12 ชั่วโมงการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล ได้แก่ หน้ากากและถุงมือป้องกันการสัมผัสสีมีใช้ในกลุ่มรับสัมผัสเท่านั้น ทั้งสองกลุ่มมีการดูแลรักษาสุขอนามัยเป็นส่วนใหญ่โดยมีการล้างมือก่อนทานอาหาร ดื่มน้ำและหลังเลิกงาน และอาบน้ำหลังเลิกงานเป็นประจำความเข้มข้นของสารโทลูอีนในปัสสาวะของกลุ่มรับสัมผัสจำนวน 97 คน และกลุ่มควบคุม 103 คน น้อยกว่า 10 µg/L กลุ่มตัวอย่างทั้งสองกลุ่มส่วนใหญ่มีอาการผิดปกติจากแบบ สัมภาษณ์ทั้งในส่วนอาการที่เกิดจากความเป็นพิษแบบรื้อรังและเฉียบพลันระดับนาน ๆ ครั้ง ไม่เคยมีหรือมีบางครั้งและจำนวนแรงงานข้ามชาติของกลุ่มรับสัมผัสที่มีอาการบ่อยในแต่ละกลุ่มอาการ ตั้งแต่ 3 อาการขึ้นไปมีมากกว่ากลุ่มควบคุมในทุก ๆ ประเภทกลุ่มอาการคะแนนเฉลี่ยจากแบบทดสอบความจำ Digit span forward และ Digit span backward ของทั้งสองกลุ่มแตกต่างกัน โดยมีค่า t เท่ากับ -2.842 (0.756, -0.137) และ -3.221 (-0.736, -0.177) ตามลำดับ ปัจจัยที่มี ผลกระทบต่อระบบประสาทได้แก่แรงงานข้ามชาติที่มีระดับการศึกษาเกรดหนึ่งถึงหกมีอาการผิดปกติแบบเรื้อรังด้านกลุ่มอาการทางจิตสรีระมากกว่าแรงงานที่ศึกษาเกรดเจ็ดถึงสิบสอง 2.179 เท่าโดยที่ OR (95% CI) เท่ากับ 2.179 (1.066, 4.454) แรงงานข้ามชาติเพศชายมีอาการผิดปกติแบบเรื้อรังด้านกลุ่มอาการนอนไม่หลับมากกว่าเพศหญิง 4.000 เท่าโดยที่ OR (95% CI) เท่ากับ 4.000 (1.029, 15.546) พบความสัมพันธ์ระหว่างการสูบบุหรี่ในปัจจุบันกับผลกระทบต่อความบกพร่องด้านประสาทจิตวิทยาจากแบบทดสอบความจำ Digit span forward โดยมีค่าสัมประสิทธิ์ของตัวแปรพยากรณ์ในรูปคะแนนดิบ เท่ากับ -0.537 ดังนั้นสมการทำนายการรับสัมผัสสารโทลูอีนที่มีผลกระทบต่อระบบประสาท ประกอบด้วย สมการที่ 1 สมการทำนายผลกระทบต่ออาการผิดปกติของระบบประสาทจากแบบสัมภาษณ์: กลุ่มอาการทางจิตสรีระ y = 1.862 + 0.779 ระดับการศึกษา (เกรดหนึ่ง ถึงหก) สมการที่ 2: กลุ่มอาการนอนไม่หลับ y = 3.664 + 1.386 เพศ (ชาย) และสมการที่ 3 สมการทำนายผลกระทบต่อความบกพร่องด้านประสาทจิตวิทยาจากแบบทดสอบความจำ Digit span forward คือ y = 4.000 -0.537 ประวัติสูบบุหรี่ (ปัจจุบันสูบ) โดยสรุปสามารถนำข้อมูลมาใช้เป็นแนวทางในการดูแลสุขภาพของคนงานเพื่อลดอัตราการเกิดผลกระทบต่อระบบประสาทจากการทำงานสัมผัสสารโทลูอีน โดยรณรงค์ให้ทราบถึงผลเสียจากการสูบบุหรี่และเน้นการให้ความรู้เกี่ยวกับผลเสียจากการรับสัมผัสสารโทลูอีนเป็นระยะเวลานานต่อเนื่อง รวมถึงวิธีการปฏิบัติงานเพื่อลดการรับสัมผัสสารโทลูอีน