Abstract:
การวิจัย เรื่องแรงจูงใจในการปฏิบัติงานของกำลังพลหน่วยเฉพาะกิจหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งกองทัพเรือในการปฏิบัติงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้และจังหวัดสงขลา มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อศึกษาแรงจูงใจในการปฏิบัติงานของกำลังพลหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งกองทัพเรือในการปฏิบัติงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ จังหวัดสงขลาและ 2) เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อแรงจูงใจในการปฏิบัติงานของกำลังพล หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งกองทัพเรือในการปฏิบัติงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และจังหวัดสงขลา ประชากรที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ กำลังพลหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งกองทัพเรือที่จะไปปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยปฏิบัติการหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และจังหวัดสงขลา จำนวน 115 คน ในการศึกษาในครั้งนี้ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลจากประชากรทั้งหมด จำนวน 115 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลคือแบบสอบถาม และสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ การหาค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และวิเคราะห์ถดถอยเชิงพหุ (Multiple regression analysis) ผลการวิจัยพบว่า 1. ข้อมูลของผู้ตอบแบบสอบถาม กำลังพลส่วนใหญ่มีอายุ 20-30 ปีส่วนใหญ่มีชั้นยศ นายทหารชั้นประทวน มีสถานภาพสมรสมากที่สุด ส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาระดับอนุปริญญา/ ปวส รายได้ต่อเดือน 10,001-20,000 บาท ระดับตำแหน่ง/ ขั้นเงินเดือน อยู่ในระดับนายทหารประทวน 1 และการรับรู้ความเสี่ยงของกำลังพล ฯ ในการปฏิบัติงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และจังหวัดสงขลาอยู่ในระดับน้อย 2. การวิเคราะห์แรงจูงใจในการปฏิบัติการของกำลังพลหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งกองทัพเรือในการไปปฏิบัติงานหน่วยเฉพาะกิจหน่วยบัญชาการต่อสู้ อากาศยานและรักษาฝั่งกองทัพเรือในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และจังหวัดสงขลา ระดับแรงจูงใจของกำลังพลที่มีต่อการปฏิบัติงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายภาคใต้และจังหวัดสงขลา โดยรวมในภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่าด้านโดยเรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากที่สุดไปน้อยที่สุด พบว่า ด้านความรับผิดชอบ ด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ด้านนโยบาย และการบริหาร ด้านความก้าวหน้า ด้านสภาพการทำงาน ด้านการปกครองบังคับบัญชา ด้านความมั่นคงในการทำงาน ด้านความเจริญก้าวหน้าส่วนบุคคล ด้านงานที่ท้าทาย ด้านค่าตอบแทน ด้านการยอมรับนับถือและด้านความสำเร็จของงาน ตามลำดับ 3. การวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อแรงจูงใจของกำลังพลหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยาน และรักษาฝั่งกองทัพเรือในการปฏิบัติงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และจังหวัดสงขลา ใช้การวิเคราะห์ถดถอยเชิงพหุพบว่า ตัวแปรอิสระในปัจจัยส่วนบุคคลได้แก่อายุชั้นยศ สถานภาพสมรส ระดับการศึกษาระดับตำแหน่ง/ ขั้นเงินเดือน และการรับรู้ความเสี่ยง สามารถอธิบายการผันแปรของแรงจูงใจของกำลังพล หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งกองทัพเรือในการปฏิบัติงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และจังหวัดสงขลาคิดเป็นร้อยละ 24.6 เมื่อพิจารณาเป็นรายตัวแปรอิสระ พบว่า การรับรู้ความเสี่ยงมีผลต่อแรงจูงใจในการปฏิบัติงานของกำลังพลในการปฏิบัติงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และจังหวัดสงขลา อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01